ลำดับ‘ปาร์ตี้ลิสต์’เซฟโซน-เดดโซน?

อีก 1 ตัวชี้วัดเลือกตั้ง 2566 สำหรับ ผู้สมัครส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์

สัดส่วน 100 คน จากจำนวนส.ส. ทั้งหมด 500 ที่นั่ง หรือ 1 ใน 5 แต่ด้วยเกมคณิตศาสตร์การเมือง การสะสมเสียงส.ส.ให้มากไว้ ย่อมทำให้อยู่ในสถานะ ได้เปรียบ

ยิ่งเป็นการเลือกตั้งที่มี ‘ความพิเศษ’ ในการที่ 250 ส.ว. มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทุกคะแนน ทุกจำนวนส.ส.จึงมีค่า

นอกจากนี้การเลือกตั้ง 2566 ได้เปลี่ยนแปลงกติกา จากบัตรเลือกใบเดียว มาเป็น 2 ใบ ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม การลงคะแนนเลือกส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนได้ชัดเจนตรงไปตรงมา

ไม่ต้องมีสูตรคำนวณปัดเศษให้คาใจ!!!

ด้วยการใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ย่อมสัมพันธ์กับคะแนนนิยมของพรรค การคัดสรรบุคคลที่มีความเหมาะสม ดี เด่น ดัง สร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนได้ จึงสำคัญ

แต่ละพรรคการเมืองเริ่มทยอยเปิดรายชื่อออกมาแล้ว

ก่อนจะวิเคราะห์ลำดับรายชื่อของแต่ละพรรค ต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไประบบส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์นี้ก่อน

ระบบเลือกตั้งที่แบ่งส.ส.เป็น 2 ประเภท เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้มีส.ส. แบบแบ่งเขต กับส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

คือระบบเขต ก็เลือกผู้สมัครในแต่ละเขตไป หากต้องการให้พรรคการเมืองใดเข้าไปทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ก็ทำได้โดยการเลือก ผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2540 ยังกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากส.ส.

ดังนั้น ผู้สมัครที่จะเสนอตัวเป็นนายกฯ จึงต้องเปิดเผยตัวตนและเจตนาผ่านการ ลงเลือกตั้งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในลำดับที่ 1 เพราะเมื่อผ่านการเลือกตั้งได้ขึ้น เป็นนายกฯ หรือฝ่ายบริหารพรรคก็จะสามารถเลื่อนผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดมา ขึ้นมาเป็นส.ส.แทนได้ทันที ไม่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่

เป็นการออกแบบในเงื่อนไขกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือต้องเป็นส.ส.นั่นเอง

แต่เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดเงื่อนไขนี้ออกไป แต่คงไว้ด้วยระบบ เลือกตั้ง 2 แบบ ใช้บัตรใบเดียว ในการ เลือกตั้งปี 2562 ก่อนเปลี่ยนกลับมาใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง 2566 นี้

แต่ถึงกระนั้นในรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้กำหนดว่านายกฯ จะต้องมาจากส.ส. ทำให้เราเห็นได้ว่าแคนดิเดตนายกฯ ของบางพรรค ก็ไม่มีชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ส่วนที่ว่าใครลงเลือกตั้งระบบนี้แล้วจะได้เป็นส.ส.หรือไม่ นักการเมืองแต่ละคนต้องคิดคำนวณกันอย่างรอบคอบ เผื่อเหลือเผื่อขาด โดยวัดจากกระแสความนิยมของพรรคต้นสังกัด เพื่อให้ รู้ว่า ตรงไหนคือเซฟโซน และตรงไหนคือเดดโซน

ตรวจสอบแต่ละพรรคการเมือง เริ่มที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งโพลหลายสำนักชี้ตรงกันว่า น่าจะเป็นพรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้ง ประกาศบัญชีรายชื่อเบื้องต้นออกมาแล้ว แม้เป็นเพียงการเรียงตามลำดับตัวอักษร ไม่ใช่ลำดับรายชื่อของจริงก็ตาม

ซึ่งมีทั้งแกนนำพรรคยุคแรกเริ่ม อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด, นายภูมิธรรม เวชยชัย, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ

ผสมกับคนบ้านใหญ่ ที่ย้ายมาใหม่ อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสุชาติ ตันเจริญ, นายสนธยา คุณปลื้ม, น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ลูกสาว นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล

แต่ที่น่าสนใจคือไม่มีชื่อ 2 แคนดิเดตนายกฯ อย่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ที่ตัดสินใจลงสมัครแบบเขต

วิเคราะห์กันว่า ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะเพื่อไทยมีบุคลากรเหมาะที่จะเป็นส.ส. ล้นพรรค จึงต้องแบ่งปันโอกาสให้กันอย่างทั่วถึง

นายเศรษฐาชี้แจงการไม่มีชื่อลงสมัครส.ส.ว่า จุดยืนต้องการ เข้ามาทำหน้าที่บริหาร แต่ยืนยันว่าสถานะของตนเองมีความ ยึดโยงกับประชาชนแน่นอน เพราะหากได้รับการเสนอชื่อเป็น นายกฯ ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการสรรหาจากคณะกรรมการบริหารพรรค

“หากประชาชนต้องการให้นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย ก็ต้องเลือกส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด”

ข ณะที่พรรคก้าวไกล แม้ยังไม่เปิดชื่อทั้ง 100 คน แต่ก็ยืนยันชัดเจนจะมีชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคอยู่ในลำดับที่ 1 แน่นอน ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุ พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการที่นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เพราะเป็นหลักการจากการต่อสู้ของประชาชนเดือนพฤษภาฯ 35 ที่คนจำนวนมากสละชีวิตเพื่อยืนยันหลักการนี้ และเพื่อรักษาหลักการนี้ จำเป็นที่แคนดิเดตนายกฯ ต้องเป็นส.ส.

หันมาดูพรรครวมไทยสร้างชาติ จุดขายคือการชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย เปิด 100 รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ออกมาแล้วเช่นกัน แต่ก็กลับไม่มีชื่อพล.อ.ประยุทธ์

มีก็แต่บรรดาแกนนำพรรค โดยเฉพาะที่แยกตัวมาจากประชาธิปัตย์ อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายจุติ ไกรฤกษ์, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายสามารถ มะลูลีม นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ และ นายชุมพล กาญจนะ

อีกกลุ่มคือบรรดาคนใกล้ชิดพล.อ.ประยุทธ์ อาทิ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ, นายธนกร วังบุญคงชนะ, นายเสกสกล อัตถาวงศ์ และ นายสุชาติ ชมกลิ่น

ซึ่งก็ต้องดูอีกครั้งในการจัดลำดับ ใครจะได้อยู่ในเซฟโซน ได้เป็นส.ส.

อย่างไรก็ตามเป็นประเด็นตั้งคำถามกันมาก เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลงส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

เนื่องจากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนละสถานการณ์กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ของเพื่อไทย พรรคซึ่งได้รับคะแนนนิยมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจโพล ซึ่งเป็นเครื่องการันตีได้ว่าผู้อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ไม่เกิน ลำดับ 40 ยังไงก็ได้เป็นส.ส.

อีกทั้งมือขวาอย่างนายธนกรก็ย้ำชัด รวมไทยสร้างชาติคือพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์คือ รวมไทยสร้างชาติ

ดังนั้น การที่ศูนย์กลางของพรรคอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีชื่อในปาร์ตี้ลิสต์ ก็เหมือนแม่ทัพไม่ยอมนำทัพออกรบ จะส่งผลต่อจิตใจของสมาชิก และผู้สมัครส.ส.คนอื่นๆ ของพรรคหรือไม่ ต้องตามดูกันต่อไป

พรรคต่อมาที่น่าสนใจคือ พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ ใน 100 รายชื่อมากันครบ ทั้ง นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และ ‘ปลื้ม’ สุรบถ หลีกภัย

รวมถึงคนใหม่อย่าง ‘เสธ.อ้าย’ บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค ‘ดร.เอ้’ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

โดยการจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์ พรรคมีมติให้เป็นอำนาจตัดสินใจของหัวหน้าพรรค กับเลขาธิการพรรค 2 คนเท่านั้น

แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็เกิดปฏิกิริยาแรงกระเพื่อมภายใน

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร โพสต์เฟซบุ๊ก “อยู่ที่ไหนก็ได้ ที่เขาเห็นคุณค่า” ส่อเค้าว่าจะย้ายพรรค หากไม่ได้อยู่ในอันดับเซฟโซน 10 บวกลบ 5

ตามหลักการพรรคที่ในทุก 5 อันดับ จะให้มีผู้หญิง 1 คน ซึ่งก็มี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ยืนหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น หากไล่มาจนถึงอันดับ 10 เท่ากับว่าจะมีผู้สมัครหญิงได้อีก 1 คนเท่านั้น ซึ่งก็ต้องแย่งชิงกับ มาดามเดียร์ และ รัชดา ธนาดิเรก

และเมื่อดูจากเซฟโซน หากถูกจัดให้อยู่ในลำดับมากกว่า 10 ก็จะถือเป็นเดดโซน สุ่มเสี่ยงมากที่จะพลาดโอกาสได้เป็นส.ส.

เป็นแรงกระเพื่อมในพรรคก่อนสรุป รายชื่อยื่นต่อ กกต.

ในบรรดาพรรคหลักยังมี พลังประชารัฐ ที่ส่งลงปาร์ตี้ลิสต์ 92 รายชื่อ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในลำดับ 1 ควบตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ

เช่นเดียวกับภูมิใจไทย ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 1 แต่ที่ ฮือฮาคือการจัดให้ น.ส.ชนม์ทิดา อัศวเหม อยู่อันดับ 5 เสี่ยหนูประกาศดันว่าที่ลูกสะใภ้ เข้าสภาให้จงได้

พรรคใดจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ผลเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้ขาด น่าจับตาว่าจะตรงผลโพลของหลายสำนักหรือไม่

เพราะยิ่งวันเลือกตั้งใกล้เข้ามา แต่ละพรรคต่างก็เร่งออกอาวุธทุกรูปแบบเพื่อ โกยแต้มให้ได้มากที่สุด

และมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำพาสถานการณ์ให้เป็นการเมืองแบบเลือกข้าง บีบให้ประชาชนต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง 2 ขั้วการเมือง โดยการเทคะแนนให้กับพรรคหลักของแต่ละขั้ว ซึ่งจะทำให้พรรคขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตกที่นั่งลำบาก ได้รับคะแนนน้อย

ผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร ต้องรอให้ประชาชนตัดสินพิพากษาในวันที่ 14 พ.ค. 2566

กำหนดเส้นทางอนาคตประเทศไทย จะเดินไปทางไหน!??

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน