การส่งออกไทยในช่วงต้นปี 2566 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเดือนก.พ. 2566 การส่งออกไทยหดตัวที่ -4.7 (YoY) เป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 5 โดยได้รับแรงกดดันหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐ ยูโรโซน ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดจีนมีทิศทางดีขึ้น โดยติดลบน้อยลงหลังได้รับแรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดไปในช่วงต้นปี 2566

สำหรับสหรัฐซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในเดือนก.พ. 2566 ยังคงเผชิญกับการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ -9.5% (YoY) ตามการส่งออกสินค้าในหมวดหมู่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนราว 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปสหรัฐ โดยมีสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ การส่งออกไทยไปยังตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนจากปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์ยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง และอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ส่งออกไทย

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจสหรัฐก็อาจได้รับผลกระทบให้ชะลอตัวมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในบางไตรมาสของปีนี้จากปัญหาภาคธนาคารดังกล่าว ประกอบกับคงจะเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่จากการประชุม FOMC รอบล่าสุด เฟดยังไม่ส่งสัญญาณที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

ดังนั้น จึงมีมุมมองว่า ปี 2566 การส่งออกไทยไปสหรัฐจะเผชิญกับการหดตัวมากขึ้นที่ -2.2% (จากที่คาดการณ์เดิมเมื่อเดือนม.ค. 2566 ว่าหดตัวที่ -1.3%)

สำหรับภาพรวมการส่งไทยในปี 2566 จะยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐ และยูโรโซน ที่เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นจากปัญหาภาคธนาคาร ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคการค้าของไทย

นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยฐานในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากปีก่อนหน้า

ดังนั้น จึงมีมุมมองว่าการส่งออกไทยในปี 2566 คงติดลบเพิ่มขึ้นที่ -1.2% (จากที่คาดการณ์เดิมเมื่อเดือนม.ค. 2566 ว่าหดตัวที่ -0.5%)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน