เป็นประเด็นร้อนแรงที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเหลือเกิน ถึงขั้นโลกออนไลน์ผุดแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม ขึ้นมา

เพราะยิ่งเข้าใกล้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. ปัญหาหลายอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต.ก็เริ่มผุดมาให้เห็น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเว็บไซต์การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มในวันสุดท้ายของการลงทะเบียน ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องเสียสิทธิ์

แถมกกต.ทั้ง 6 คนที่ควรจะดูแลแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีกลับเดินทางไปดูงานต่างประเทศทั้งหมด!??

ทั้งแอฟริกาใต้ เคนยา โมร็อกโก ฮังการี สโลวะเกีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย

แม้จะมีความพยายามชี้แจงว่าเป็นความจำเป็นยิ่งยวดในการต้องไปติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ถึงขั้นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ต้องออกมาชี้แจงเหตุผล แต่ก็ไม่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจได้มากนัก

อย่างที่บอกว่านายอิทธิพร ต้องไปแอฟริกาใต้ เคนยา โมร็อกโก เพราะแอฟริกาเป็นภูมิภาคใหญ่ การคมนาคมขนส่งลำบาก ไม่มีเที่ยวบินตรง








Advertisement

แล้วประธานกกต.จะไปทำอะไร จะเพิ่มเที่ยวบินให้ จะสร้างรางรถไฟ ระบบคมนาคม หรือจะเทียมเกวียนไปส่งบัตรเลือกตั้ง!!?

และหากต้องการแก้ปัญหาเหล่านี้การเดินทางไปในช่วงกระชั้นชิดที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

คุ้มค่างบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนเพียงใด

และอดคิดไปถึงเรื่องสำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ตรงกับเจตจำนงของประชาชนมากที่สุด อย่างเรื่องบัตรเลือกตั้งที่มีหมายเลขผู้สมัครชัดเจน การรายงานผลที่ถูกต้องฉับไว กลับถูกกกต.ชุดนี้มองข้าม อ้างงบประมาณไม่เพียงพอ

ทั้งที่มีเงินจัดการเลือกตั้งเกือบ 6 พันล้านบาท มากที่สุดในประวัติการณ์

จนภาคเอกชนต้องรวมตัวกัน หาอาสาสมัครเพื่อรายงานผลการเลือกตั้ง รวมทั้งจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

จึงไม่แปลกที่คำถามว่ากกต.มีไว้ทำไมจะดังขึ้นเรื่อยๆ!??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน