สิ้นสุดการทำให้คนไทยมีบ้าน ในบทบาทกรรมการผู้จัดการธนาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ นายฉัตรชัย ศิริไล

รับหน้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทย ในบทบาท “ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)” หลังรับตำแหน่งก็จัดทริปปฐมฤกษ์ พาคณะสื่อมวลชนตะลุยสวนกันเลยทีเดียว

หมุดหมายแรกคือ พบปะเกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรือง ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เดิมปลูกพืชผักสวนครัว เช่น มะระ มะเขือ แตงกวา และผักบุ้ง ต่อมาปรับเปลี่ยนการผลิตมาปลูกดอกดาวเรืองพันธุ์คองโก้ สลับกับพืชผักสวนครัว บนพื้นที่ 8 ไร่

ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลเลือกตั้งแบบนี้ ดอกดาวเรืองจากราคาไม่กี่สิบสตางค์ พุ่งขึ้นกว่า 4-5 บาทต่อดอกกันเลยทีเดียว โดยมี ยอดขายสูงถึงวันละ 3,000-5,000 ดอก

นายฉัตรชัยกล่าวเสริมว่า การประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้าดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ธ.ก.ส.ยังมีข้อมูลเกษตรกรรวมถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นฐานข้อมูล (Database) สำคัญของภาคการเกษตร และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้รู้ว่าสินค้าเกษตรชนิดนี้ ใครผลิต อยู่ที่ไหน มีปริมาณเท่าไร ผลผลิตมีมากหรือน้อยในช่วงไหน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การบริหารจัดการ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด

รวมถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม การทำ packaging การแปรรูป การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น

ถัดจากสวนดาวเรือง ก็มุ่งสู่สวนมะพร้าวน้ำหอม ต.บ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคของ นักท่องเที่ยว โดยในช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาค่อนข้างสูง ได้คิดและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนมาใช้ภายในสวน รวมถึง ส่งขายภายใต้แบรนด์ “บ้านไร่ฟาร์มไส้เดือน”

ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เสริม สอดคล้องตามหลัก BCG Model ที่ ธ.ก.ส.มุ่งสนับสนุนอีกด้วย

ถัดมาอีกวันหนึ่ง คณะ ธ.ก.ส.พาลงพื้นที่เยี่ยมชมงานสวนองุ่นเจริญผล ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่มีการปลูกองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา มีรสชาติหวานอร่อยและเป็นที่นิยม โดยใช้วิธีการปลูกแบบยกร่องสวน และปลูกแบบหมุนเวียนโดยเปลี่ยนต้นใหม่ ทุกๆ 3 ปี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีองุ่นจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งนอกจากส่งขายไปยังตลาดผลไม้ทั่วไปแล้ว ยังขยายช่องทางการจำหน่ายผลผลิตผ่านสื่อออนไลน์ ได้แก่ Facebook และ TikTok

รวมถึงการเปิดสวนองุ่นให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและทำกิจกรรมตัดองุ่น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวและต่อยอดธุรกิจไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร พร้อมกับลูกหลานเกษตรกรตัวน้อย ที่เรียกว่าแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ประจำไร่อีกด้วย

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ ต.นาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับอ่าวรูปตัว ก จึงมีทัศนียภาพที่งดงาม

โดยชาวบ้านทำอาชีพประมงพื้นบ้าน เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำกะปิเป็นอาชีพหลัก ในช่วงโควิด-19 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารทะเลตากแห้ง กุ้งแห้ง ปูไข่ดองแบรนด์ “ปูจ๋ารางจันทร์” ซึ่ง ธ.ก.ส. สนับสนุนด้านการให้ความรู้ และเติมทุนให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน

นับเป็นการเปิดทริป เอาฤกษ์เอาชัย ในการถือธงเขียว นำ ธ.ก.ส.ปักหมุดช่วยเกษตรกรทั่วไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน