สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอนุสรณียสถานที่ทำให้ระลึกถึงพระราชประวัติของพระพุทธเจ้า ในแต่ละปีมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา

กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมการศาสนา ให้ความสำคัญในการระลึกถึงพุทธคุณ จึงจัด “โครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล”

อธิบดีเอ-นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนาได้ดำเนินโครงการนำพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน เดินทางมาจาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดียและเนปาล ตั้งแต่ปี 2558 นำพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมากว่า 2,600 รูป เดินทางมายังสถานที่สำคัญสมัยพุทธกาล ได้ตามรอยสถานที่ประสูติ ณ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล สถานที่ตรัสรู้ ณ เมืองคยา อินเดีย สถานที่แสดงปฐมเทศนา ณ สารนาถ เมืองพาราณสี อินเดีย และสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา อินเดีย

อีกทั้งกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ยังได้สนับสนุนศูนย์อำนวยความสะดวกในการเดินทาง แก่ผู้มาแสวงบุญชาวพุทธทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้แก่ วัดไทยในพุทธคยา วัดไทยลุมพินี วัดไทยเมืองสารนาถ ด้วย

ในการเดินทางแต่ละครั้งมีกลุ่มเป้าหมายคือ การคัดเลือก พระสงฆ์จากทั่วประเทศ ที่ดำเนินกิจกรรมโครงการต่างๆ ในการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาทิ โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ชุมชนคุณธรรม ลานธรรม ลานวิถีไทย หน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา พระธรรมวิทยากร และพุทธศาสนิกชนเครือข่ายที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งกรมการศาสนาก็จะดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่องไปทุกปี

ปีนี้แบ่งการเดินทางออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก นำโดยอธิบดีกรมการศาสนา มี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่กระทรวง รวม 9 คน ร่วม เดินทางระหว่างวันที่ 19-27 มี.ค.








Advertisement

ชุดที่สอง มี นางสาวฐิติมา สุภภัค ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา นำคณะ มีพระสงฆ์ร่วมคณะจำนวน 42 รูป และพุทธศาสนิกชน 9 คนเดินทางระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย. โดยมี เอ็นซี ฮอลิเดย์ทัวร์ ดูแลคณะทั้งหมด

เริ่มการเดินทาง นั่งเครื่องบินตรงไปลงเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย แล้วนั่งรถบัสมุ่งไปตำบลแรก “พุทธคยา” สถานที่ตรัสรู้ โดยระหว่างทางรถได้ข้ามผ่านแม่น้ำเนรัญชรา สถานที่ลอยถาดของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ที่ปัจจุบันนี้ตาน้ำแห้งขอด ผืนน้ำแปรเปลี่ยนเป็นดินทรายทั้งสองฝั่ง

เมื่อมาถึงวัดไทยพุทธคยา วัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย ได้ขึ้นรถสามล้อเครื่องขึ้นไปกราบนมัสการพระมหาเจดีย์พุทธคยา กราบนมัสการพระแท่นวัชรอาสน์ และกราบพระพุทธเมตตาที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ชมสถานที่ตรัสรู้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ปัจจุบัน ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังพระมหาเจดีย์พุทธคยา ยังคงยืนต้นเป็นรุ่นที่ 4 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2423 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 143 ปีแล้ว หากนับรวมตั้งแต่ต้นที่ 1 สมัยสหชาติ เกิดพร้อมพระพุทธองค์ ก็เป็นเวลาถึง 2,644 ปีแล้ว โดยในแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนมากราบไหว้ และรอเก็บใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นลงสู่พื้น บางคนก็นำมาขายให้กับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมชม

ที่เมืองคยา ทางคณะยังได้ไปเยี่ยมชมบ้านนางสุชาดา ที่ถวายอาหารมื้อสุดท้ายก่อนทรงตรัสรู้ด้วย

วันรุ่งขึ้นออกเดินทางไปกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ปัจจุบันคือจังหวัดนาลันทา ห่างออกไป 110 กิโลเมตร และเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพื่อนมัสการพระคันธกุฎี กุฏิพระพุทธองค์ ที่อยู่บนยอดเขา

เราใช้เวลาเดินขึ้นเขานานครึ่งชั่วโมง หากใครเดินขึ้นไม่ไหว ตรงทางขึ้นมีกระเช้าให้บริการขึ้นไปตรงวัดญี่ปุ่น หรือเจดีย์แห่งสันติภาพ แล้วเดินต่อไปอีกนิดหนึ่งก็ได้

จากนั้นไปชมวัดเวฬุวนาราม วัดแห่งแรกของโลก หรือวัดป่าไผ่ที่ตั้งอยู่กลางสวนไผ่ และเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ที่ยังคงมีซากอิฐของอาคารเรียนต่างๆ ให้เดินชมภายในอาณาเขตที่กว้างขวาง

ถัดไปมุ่งหน้าสู่ไวสาลี นมัสการสารีริกธาตุพระสถูปเจดีย์ ณ ปาวาลเจดีย์ สถานที่ทรงปลงพระชนมายุสังขารในวันเพ็ญเดือนสามแห่งพรรษาสุดท้ายของพระชนมชีพ ก่อนเดินทางต่อไปยังป่ามหาวัน ที่ประทับของพระพุทธองค์ และชมเสาอโศก ที่ยังคงมีความสมบูรณ์ที่สุดในอินเดีย สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นเสาหินทรายขัดมัน บนยอดเสาเป็นสิงห์หมอบขนาดใหญ่หนึ่งตัว

จากนั้นเดินทางไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ “ปรินิพพาน” ใต้ต้นสาละคู่ ณ สาลวโนทยาน นมัสการองค์ปรินิพพาน สถูปภายในมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่

วันรุ่งขึ้นข้ามแดนสู่ประเทศเนปาล โดยทุกคนต้องลงจากรถไปแสดงตนถึง 3 ด่าน ด่านแรก ที่ตรวจคนเข้าเมืองฝั่งอินเดีย ด่านที่สองกับด่านทหารกุลข่าน ในจุดที่เรียกว่า โนแมนแลนด์ เขตปลอดทหาร แล้วถึงไปแสดงตนที่ตรวจคนเข้าเมืองฝั่ง ประเทศเนปาลได้ แล้วนั่งรถไปอีกครึ่งชั่วโมง ถึงอำเภอไพราวา หรือสิทธัตถะนคร แคว้นอูธ เนปาล

เป้าหมายคือตำบลลุมพินี สถานที่ “ประสูติ” ที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2540 ด้านหน้าก่อนทางเข้ามีพระพุทธเจ้าน้อยตั้งอยู่ เมื่อเดินเข้ามาภายใน ชมหินสลักภาพประสูติ เสาหินพระเจ้าอโศก และสระโบกขรณี

แล้วบอกลาประเทศเนปาล กลับมายังประเทศอินเดีย ไปที่เมืองสาวัตถี ชมเชตวันมหาวิหาร สถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่นานที่สุด

ต่อด้วยเมืองพาราณสี สารนาถ ชมป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ “แสดงปฐมเทศนา” นมัสการธัมเมกขสถูป สถานที่แสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์

ในทุกสถานที่ที่เดินทางไปครั้งนี้มีพระครูนิโครธบุญญากร เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม สหพันธรัฐอินเดีย-เนปาล นำนั่งสวดมนต์ด้วย

นางยุพา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่ได้นำพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้มาเรียนรู้ ณ สถานที่จริงอันเป็น พุทธภูมิ จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการนำไปเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชน นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นประโยชน์

อภิมาศ พงษ์ไพบูลย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน