เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘แพะ’ เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะนอกจากใช้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังใช้ในงานพิธีทางศาสนาอิสลามด้วย ซึ่งเกษตรกรและชาวบ้านนิยมเลี้ยงแพะกันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งต่าง ส่งเสริมมาตลอด หนึ่งในนั้นคือสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

วันก่อน ‘ดร.ธานินทร์ ผะเอม’ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และคณะ รวมทั้ง ‘รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทพ’ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัย ‘การส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะพื้นเมืองเพื่อยกระดับรายได้ของเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ที่มีผศ.ยะโก๊ะ ขาเร็มดาเบะ อาจารย์มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากวช. ภายใต้โครงการ ‘การขับเคลื่อนและเสริมสร้างความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้’

จุดแรกไปกันที่อาคารศูนย์เรียนรู้การเกษตร ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมมอบแพะให้กับ ‘นายฮาฟีซ อาบู’ ประธานชมรมเยาวชนบ้านบือราแง และสมาชิก โดยนายฮาฟีซบอกว่า จบปริญญาตรีจากประเทศอินโดนีเซีย ยังไม่มีงานทำ โครงการนี้มีประโยชน์กับเยาวชนมาก ทำให้มีการรวมกลุ่มกันเลี้ยงแพะ ไม่มีเวลาไปมั่วสุมเรื่องยาเสพติด ถือเป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เงินที่ได้มาก็เก็บไว้ในกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ

สำหรับโครงการนี้ดำเนินการใน 3 พื้นที่ 3 จังหวัดคือ ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี มีเยาวชนเข้าร่วม 17 คน, บ้านทุ่งเหรียง ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา เยาวชนร่วม 16 คน และที่อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เยาวชน ร่วม 12 คน รวมทั้งหมด 49 คน แจกแพะให้ไปเลี้ยงคนละ 2ตัว รวมทั้งหมด 98 ตัว

ผศ.ยะโก๊ะเล่าว่า ได้รับทุนจากวช.ปี 2565 จำนวน 700,000 บาท ในการวิจัยสูตรอาหารข้น ส่วนอาหารหยาบก็เน้นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น พวกใบปาล์ม หยวกกล้วยต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารแพะ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพราะประเด็นสำคัญในการเลี้ยงแพะคือต้นทุน 70% มาจากอาหาร อีก 30% มาจากแรงงานและยา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านเลี้ยงแพะแบบดั้งเดิม แค่มีแคร่ให้แพะเข้าไปนอน ไม่ถึงขั้นเป็นโรงเรือน กลางวันปล่อยในสวนยาง และในที่สาธารณะ ข้อเสียคือ แพะโตช้า และเป็นโรคพยาธิ จึงเสนอขอทุนวช.เรื่องการเลี้ยงแพะแบบประณีต

ทั้งนี้การเลี้ยงแพะแบบประณีตในระบบโรงเรือนปิดนั้น สามารถตัดหญ้าไปให้แพะกินในคอก ตอนเย็นๆ อาจปล่อยแพะออกมาวิ่งเล่น แล้วค่อยต้อนเข้าคอก ซึ่งโรงเรือนขนาด 4 เมตรคูณ 4 เมตร เลี้ยงแพะได้ไม่เกิน 15 ตัว และในคอกต้องแยกเป็น 3 ส่วนคือ คอกรวม คอกบริบาลแพะแรกเกิด และคอกสำหรับแพะป่วย นอกจากนี้อาจมีที่เก็บหญ้าด้วย

สำหรับการป้องกันโรคพยาธิ ใช้วิธีตัดหญ้าให้กินในคอก และผลิตอาหารข้นเอง ประกอบด้วย รำข้าว ปลาป่น กากถั่วเหลือง กากน้ำตาลและ EM ซึ่งสูตรอาหารข้นนี้สามารถผลิตเองได้ในราคาก.ก.ละไม่ถึง 5 บาท ขณะที่อาหารข้นในท้องตลาดขายก.ก.ละ 17 บาท เห็นชัดเลยว่าลดต้นทุนได้ 70% ส่วนอาหารหยาบนั้น พยายามเตรียม แปลงหญ้าที่ทนต่อภูมิอากาศโซน 3 จังหวัด คือ หญ้าเนเปียร์ ที่ทนแล้งทนฝน และปลูกง่าย จึงเร่งส่งเสริมให้ชุมชนขยายพื้นที่ปลูก เตรียมรองรับการเลี้ยงแพะในอนาคต

ผศ.ยะโก๊ะบอกด้วยว่า ครอบครัวตนเองนั้นเลี้ยงแพะ 50 กว่าตัว มีทั้งสายพันธุ์พื้นเมืองผสมกับบอร์ และสายพันธุ์พื้นเมือง 100% ซึ่งมีข้อเสียคือ น้ำหนักอยู่ที่ 25-30 ก.ก. ข้อดีคือทนต่อโรค ถ้านำไปผสมกับพันธุ์บอร์ ที่มีน้ำหนัก ต่อตัว 60-70 ก.ก. ใช้พ่อพันธุ์บอร์ แม่พันธุ์ พื้นเมือง ออกมาเป็นพันธุ์ผสมที่ทนต่อโรค น้ำหนักตัวละ 40 ก.ก.

ในส่วนของเยาวชนที่ร่วมโครงการนี้ มองว่าช่วงเริ่มต้นถ้าเลี้ยงคนละ 10-20 ตัว กำลังดี กรณีลี้ยง 10 ตัว 1 ตัวจะให้ลูกครั้งละ 2 ตัว ปีหนึ่งออกลูก 2 ครั้ง หรือ 2 คอก แพะหนึ่งตัวจึงให้ลูกไม่ต่ำกว่า 4 ตัวต่อปี ต่ำสุด 2 ตัว ดังนั้นแพะ 10 ตัว จะได้ลูก 20 ตัวต่อปี คูณด้วยเงินจำนวนขั้นต่ำ 2,000 บาทต่อตัว เท่ากับ 20,000 บาท บวกอีก 10 ตัวเดิมที่เลี้ยง เท่ากับได้เงิน 40,000 บาทต่อปี จากการเริ่มเลี้ยงแพะ 10 ตัว แต่ต้องเลี้ยงให้มีคุณภาพ จะได้ลูกแพะ 20 ตัว จำนวนเงิน 40,000 บาทต่อปี เยาวชนสามารถทำได้ ตกเดือนละเกือบ 4,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีเพราะเยาวชนหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ค่อยมีอาชีพ อาศัยรับจ้างทั่วไป หรือรับจ้างกรีดยาง

“โครงการนี้ช่วยเยาวชนดีมาก สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ พวกเขามีความตั้งใจ เขาสร้างกลุ่มและมีการรายงานว่าวันนี้แพะเป็น ยังไงบ้าง กินอะไรบ้าง ต้องไปหาอาหาร ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางมีประมาณ 60-70% ในแต่ละหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งมาจากฐานะที่ยากจน เรียนจบม.3-ม.6 จบมาก็ไม่ได้ทำอะไร และไม่ได้เรียนต่อด้วย บางรายไปทำงานที่มาเลย์ ช่วงโควิดเยาวชนเหล่านี้กลับมาบ้าน แต่ก็ไม่มีงานทำ”

ด้าน นายรอมือหลี อาแว ประธานกลุ่ม วัยรุ่นสายแพะ หมู่ 6 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ผู้เข้าร่วมโครงการ บอกว่า กลุ่มมีสมาชิก 10 คน อายุ 18-30 ปี ตอนนี้มีแพะอยู่ 20 ตัว ได้จากโครงการ 20 ตัว ให้เยาวชนไปเลี้ยงคนละตัว ที่เหลือ 10 ตัว เลี้ยงในรูป กองกลาง ถ้าใครเลี้ยงแล้วตายก็จะนำแพะ กองกลางไปเลี้ยงได้ เป็นการป้องกันความเสี่ยง อาหารที่ให้กินมีหญ้ากับใบกล้วย ต้นกล้วยสับ และหญ้าเนเปียร์ อาหารที่แพะชอบมากที่สุด คือ ต้นกล้วย การเลี้ยงแพะถือเป็นอาชีพที่ดี เพราะถ้าขายลูกผสมบอร์ ได้ก.ก.ละ 180 บาท การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้พัฒนา และได้เรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องการแเลี้ยงแพะ

“ก่อนหน้านี้เยาวชนในหมู่บ้านชอบไปมั่วในป่ายาง บ้านไม่ค่อยอยู่ แต่ตอนนี้มั่วอยู่กับแพะ ต้องตัดหญ้า ต้องสนใจแพะ ถ้าจะไปตามก็ต้องไปตามที่โรงเลี้ยงแพะ”

นับเป็นโครงการดีมีประโยชน์โดยตรงกับเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่สำคัญยังทำให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน