กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมการศาสนา จัด “โครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล”

โดยคณะของกรมการศาสนา ชุดแรกนำโดย อธิบดีเอ-นายชัยพล สุขเอี่ยม โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมคณะ รวม 9 คน และชุดสอง นำโดย น.ส.ฐิติมา สุภภัค ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา ที่มี พระสงฆ์ 42 รูป และฆราวาส 9 คน

นอกจากประกอบศาสนกิจที่เมืองลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า, เมืองพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้, เมืองสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และเมืองกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน แล้ว ยังได้ศึกษาและชมสถานที่สำคัญของอินเดีย

ไฮไลต์ คือ การล่องเรือในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ที่โด่งดังไป ทั่วโลก และชมวิถีชีวิตชาวฮินดู

ชาวฮินดูมีความเชื่อว่า แม่น้ำคงคา ที่มีความยาวกว่า 2,525 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะโค้งเสี้ยวพระจันทร์ คล้ายอยู่ที่ พระนลาฏพระศิวะ นอกจากสายน้ำจะไหลมาจากภูเขาไกรลาส แล้ว ยังย้อนขึ้นไปทิศเหนือ ซึ่งต่างจากแม่น้ำทั่วไป จึงเชื่อว่าเป็นบันไดสู่สวรรค์ ล้างบาป-อาบดื่ม บูชากราบไหว้ด้วยความนับถือ

แม่น้ำคงคา ที่เมืองพาราณสี มีท่าน้ำ หรือ “ฆาฏ” (Ghat) อยู่ 84 ท่า มีท่าทศวเมธ เป็นท่าสำคัญและใหญ่ที่สุด คำว่า “ทศวเมธ” แปลว่า การบวงสรวงด้วยม้าสิบตัว

อีกท่าสำคัญคือ ท่าเผาศพคือ มณิกรรณิการ์ฆาฏ ชาวฮินดูเชื่อว่า การนำศพมาเผาที่แม่น้ำคงคาภายใน 24 ชั่วโมง ดวงวิญญาณจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ ยกเว้นศพ 5 จำพวกคือ นักบวช, หญิงม่ายตายทั้งกลม, เด็ก, คนถูกงูกัด และคนที่ถูกฟ้าผ่าตาย ให้นำศพถ่วงน้ำได้เลย

เมื่อมาถึงท่าทศวเมธ ที่เรียกกันว่า “ฝั่งสวรรค์” ที่มีพระราชวัง บ้านเรือน ผู้คนอาศัยอยู่ แต่เช้าตรู่ เวลาตี 5 ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ เห็นภาพหลายครอบครัวเตรียมลงอาบน้ำ ในแม่น้ำคงคงอย่างคึกคัก

คณะลงเรือ เริ่มจากทางด้านขวาของท่าน้ำ จะเห็นวิถีชีวิตริมฝั่งของชาวเมืองพาราณสี ขณะที่ฝั่งซ้ายมือหรือฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับท่าน้ำขึ้นเรือคือ “ฝั่งนรก” ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ จะมีซากศพที่เผาไหม้ไม่หมด หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลอยมาเกยฝั่ง

ก่อนวกเรือกลับ ได้ลอยประทีปกระทง ขอขมาแม่น้ำคงคา และชมพระอาทิตย์ขึ้น ยามเช้า แสงแรกของเมืองพาราณสี

หลังขึ้นฝั่งแล้ว ได้ไปเที่ยวชมวัดไทยสารนาถ ตั้งอยู่ตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี ที่อยู่ใกล้กับป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา

บรรยากาศวัดมีความร่มรื่นมาก อยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่และไม้ดอก ตรงกลางสวนกุหลาบมีอนุสาวรีย์พระครูประกาศสมาธิคุณ ให้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งวัดไทยสารนาถ ทางวัดได้สร้าง พระพุทธรูปยืนปางประทานพร องค์สูงใหญ่ อยู่ด้านหน้าก่อนเข้ามายังพระอุโบสถ เป็นจุด เช็กอินที่ผู้มาเยี่ยมเยือนต้องมาแชะภาพเป็นที่ระลึก

ที่ ประเทศอินเดียและเนปาล ยังมีวัดไทยที่สำคัญอีกหลายวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 ตำบล สังเวชนียสถาน

โดยที่เมืองคยา สถานที่ตรัสรู้ มีวัดไทยพุทธคยา ที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2500 หรือ 66 ปีมาแล้ว เป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ มีพระอุโบสถที่งดงาม จำลองแบบมาจาก วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ

ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธธรรมิศรชมพูทีปนิวัติสุโขทัย และมีภาพจิตรกรรม ฝาผนังที่งดงาม

นอกจากนี้มี ภูมิปาโลคลินิก สถานพยาบาล สร้างขึ้นตามดำริของ พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล) ให้บริการตรวจรักษา ทั้งคนท้องถิ่นและผู้แสวงบุญที่เจ็บป่วยทั้ง ชาวไทยและนานาชาติ และยังมีหอสมุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วย

จากเมืองคยา เดินทางด้วยรถนานกว่า 10 ชั่วโมง ด้วยระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตร จะถึงเมืองกุสินารา สถานที่ดับขันธ์ปรินิพพาน มีวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานมาเพื่อให้สักการบูชา และสักการะเส้นพระเจ้า หรือเส้นพระเกศา

วัดนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.2537 ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวชาดกที่งดงามเช่นกัน และยังมีพระพุทธบาทจำลองตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถด้วย

เดินทางอีกกว่า 200 กิโลเมตร ก่อนถึงด่านเสาโนรี ข้ามประเทศไปเนปาล ที่บริเวณชายแดน เป็นที่ตั้งของวัดไทยนวราชรัตนาราม ๙๖๐ โดยพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ) ได้ปรารภว่า น่าจะมีสถานที่ที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกพระสงฆ์และญาติโยมที่มาแสวงบุญได้แวะพักก่อนเดิน ข้ามด่านไปเนปาล จึงได้สร้างวัดนี้เมื่อปี 2549 ภายในวัดร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้และบ่อน้ำ

จากวัดนี้ เดินทางข้ามแดนประเทศอินเดีย ไปยังอำเภอไพราวา ประเทศเนปาล เที่ยวชมวัดไทยลุมพินี วัดไทยแห่งแรกในเนปาล ที่สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของพุทธบริษัทชาวไทย ในนามของรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2535 ในวโรกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มีพระประธาน พระพุทธสุวรรณภูมิศิริโชค

พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าวว่า การสร้างวัดไทยขึ้นในอินเดียและเนปาล นอกจากเป็นการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นที่พักผ่อน และอำนวยความสะดวก ให้กับพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว ในระหว่างการเดินทางไปชม 4 ตำบลสังเวชนียสถาน อินเดีย-เนปาล ด้วย

อภิมาศ พงษ์ไพบูลย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน