คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และสถาบันการสร้างชาติ จัดการเสวนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศไทย (Thailand International Relations Forum) ในหัวข้อ “นโยบายพรรคการเมืองกับความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ” โดยมี ดร.สุธนี บิณฑสันต์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นประธาน มี ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนร่วมในงาน ที่ห้องบรรยาย 501 ชั้น 5 อาคารศรีศรัทธา

ภายในงานมีปาฐกถา “นโยบายประเทศไทยกับความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ” โดย อาจารย์ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เสนอนโยบาย

ดร.สุธนี บิณฑสันต์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริม การศึกษาวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ การกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าของประเทศไทยและโลกนี้

ด้าน อาจารย์ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบยืดหยุ่น และรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเปิดเผยและรุนแรงมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความท้าทายที่ต้องรักษาสมดุล ดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายอย่างรอบคอบ โดยขอนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ด้านความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นข้อวิเคราะห์จากศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้

1.ประเทศไทยต้องเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก ขับเคลื่อนจุดแกร่งประเทศให้เป็นเมืองหลวง 4 ด้าน คือ เมืองหลวงอาหารโลกเพื่อดึงดูดการลงทุน, ท่องเที่ยวโลกเพื่อส่งเสริม ด้านโลจิสติกส์ การค้า และการท่องเที่ยว, สุขภาพโลก เพื่ออำนวยความสะดวกทาง การค้า และอภิบาลคนชราโลกเพื่อดึงดูดคนมาเกษียณในไทย

2.ยุทธศาสตร์ไทยเป็นดุมล้ออาเซียน และอาเซียนเป็นดุมล้อโลก เพื่ออาเซียนเป็น กลาง เข้าได้กับทุกฝ่าย มีขนาดใหญ่ และ มีศักยภาพเติบโต โดยไทยร่วมมือกับ 5 ประเทศหลักๆ ในอาเซียน

3.ยุทธศาสตร์การสร้างการแข่งขัน และการถ่วงดุลของมหาอำนาจ เช่น การเจรจาเปิดเสรีการค้า

4.ยุทธศาสตร์หัวเข็มขัด คือการนำข้อได้เปรียบมาต่อรอง เช่น การต่อรองเรื่องเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนไปสิงคโปร์

5.ยุทธศาสตร์การแสวงหาโอกาสจากความขัดแย้ง เช่น ส่งเสริมการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานออกจากประเทศที่มีความขัดแย้ง

6.ยุทธศาสตร์การรองรับความเสี่ยงจากความขัดแย้ง เช่น วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นจากการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ วิกฤตสงคราม รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ผ่านมา

7.ยุทธศาสตร์การสร้างความสัมพันธ์ระดับบุคคล/องค์กร เพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมากขึ้น ทั้งในระดับชนชั้นนำหรือระดับประชาชน เช่น การให้ทุนหรือขอทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศจีนมากยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนบุคลากร การเชื่อมเครือข่ายคนไทยโพ้นทะเลที่ ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือจีนให้เข้ามาเป็นเครือข่ายในการร่วมพัฒนาประเทศ รวมถึงการจับคู่เมืองพี่เมืองน้องระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ

และ 8.ยุทธศาสตร์ความร่วมมือจัดการปัญหาข้ามพรมแดน โดยกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้

“โลกกำลังก้าวเข้าสู่ขั้วอำนาจที่มีหลายขั้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน