ผลกระทบที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาเพื่อจัดงานบุญตามประเพณี ปัญหาความรุนแรงจากเหตุทะเลาะวิวาทในครอบครัว รวมไปถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์อันดีงามของบุญประเพณีต่างๆ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านห้วยขาน หมู่ที่ 3 ตำบลหมอกจำแป่ ชุมชนบ้านผาบ่อง หมู่ที่ 3 ตำบลผาบ่อง และชุมชนป๊อกกาดเก่า ตำบลจองคำ ร่วมใจกันต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวจนประสบความสำเร็จกลับมาเป็นชุมชนต้นแบบปลอดเหล้า ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน

ทั้ง 3 ชุมชนมีแนวทางการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน่าสนใจ นำไปสู่การนำคณะเครือข่ายงดเหล้าโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์จากทั่วประเทศร่วมศึกษาดูงานในพื้นที่ นำโดย นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สสส. เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียน และประสบการณ์การทำงานรณรงค์งดเหล้าของกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนำบทเรียนที่ได้ไปยกระดับและพัฒนาการทำงานรณรงค์ทั้งในภาพรวมและในแต่ละพื้นที่

พ่อหลวงณรงค์ วิทยาสมานสกุล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยขาน หมู่ที่ 3 ตำบลหมอกจำแป่ บอกเล่าว่าหมู่บ้านเรามีอายุกว่า 100 ปี มี 2 ชาติพันธุ์คือ ไทใหญ่และปะโอ เดิมนั้นเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอันเนื่องมาจากการดื่มสุราอย่างหนักและเกิดปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนตามมา คนในชุมชนไม่มีความสุข จึงหาหนทางแก้ไขโดยรณรงค์ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ความร่วมมือของบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ และการสื่อสารข้อมูลที่ดี เช่น การประชาสัมพันธ์ทุกครั้งที่มีงาน มีการประชุมกันทุกเดือนเพื่อขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะร้านค้าขอให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 การไม่ขายให้ลูกค้าอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมา รวมถึงการขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

นายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่องกล่าวว่า ในตำบลเรามี 12 หมู่บ้าน มีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งไทใหญ่ กะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงนำมาเป็นจุดขายด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนบ้านผาบ่องเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวจึงไม่อยากให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตานักท่องเที่ยว จึงเริ่มรณรงค์งานประเพณีปลอดเหล้าโดยการสนับสนุนของเครือข่ายงดเหล้าตั้งแต่ปี 2554 ใช้เวลา 5 ปีจึงสำเร็จ จนกระทั่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในปี 2561 เทคนิคสำคัญคือการทำอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับหลักการบวร ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ชี้ให้ลูกบ้านเห็นถึงงบประมาณจัดงาน ถ้าไม่มีเหล้าจะลดลงไปจากหลายหมื่นบาทเหลือหลักพันบาท นอกจากนี้ ทำให้ชุมชนเห็นร่วมกันว่างานบุญไม่ควรมีเหตุทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ และความสูญเสียต่างๆ

นางเทพินท์ พงษ์วดี ประธานสภาวัฒนธรรม ตำบลจองคำ หนึ่งบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนให้ตำบลจองคำเป็นต้นแบบสังคมเมืองที่จัดงานประเพณี ปลอดเหล้ามานานกว่า 10 ปี








Advertisement

เริ่มต้นจากการขับเคลื่อนงานปอยส่างลองปลอดเหล้า งานบวชสามเณรของชาวไทใหญ่ ประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามที่นักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลเข้ามาชมทุกปี และขยายไปสู่งานบุญประเพณีปลอดเหล้าทั้งหมดของตำบล จองคำ คุณแม่เทพินท์กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จว่าผู้นำต้องเป็นหลักที่เข้มแข็งให้คนในชุมชน มุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนาเพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ การดำเนินงานต้องใช้เวลา แต่เมื่อเกิดผลสำเร็จชุมชนจะสงบร่มเย็น มีระเบียบในการอยู่ร่วมกันและใกล้ชิดกันมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน