“ตนมองว่าความหลากหลายคือความสวยงาม ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันเราจะสร้างสรรค์สิ่งสวยงามใหม่ๆ ในประเทศไทยได้มากกว่านี้” เฟิร์น ภิรญา ธีระโชติกรกุล ผู้ก่อตั้งองค์กรนฤมิต องค์กรหลักในการจัดงาน บางกอก นฤมิต ไพรด์ 2023 กล่าวกับเราเมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการเตรียมการจัดงาน “บางกอก ไพรด์ 2023” และบทบาทของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยในขณะนี้

โดยปี 2022 เราได้เห็นอย่างประจักษ์แล้วถึงพลังอันสวยงามของงาน บางกอก ไพรด์ 2022 ที่กลุ่ม LGBTQ+ นับหมื่นคนได้มารวมตัวเดินพาเหรด ที่สนุกสนาน สร้างสีสันเรนโบว์ไปทั่วทั้งกทม. และแสดงสีสันเรนโบว์ไปให้ทั่วโลกได้เห็น โดยกลุ่ม LGBTQ+ นั้น ไม่ได้มีเพียงความสนุกสนาน แต่ยังมีบทบาทอย่างมากในการเรียกร้องความเท่าเทียมในความหลากหลายของการอยู่ร่วมกันอีกด้วย

นับเป็นโอกาสที่ดีที่ “ข่าวสด” ได้ร่วมพูดคุยกับ เฟิร์น ภิรญา พร้อมด้วย แป๋ม ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ และ ปกป้อง ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่สยามพารากอน

โดย เฟิร์น ภิรญา พูดถึงบทบาทของกลุ่ม LGBTQ+ในประเทศไทย ว่า บทบาทของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย มีอยู่หลายกลุ่ม ทั่วประเทศ บทบาทหลักๆ กับชุมชนคือการสนับสนุนกัน และ เรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับจากสังคม

ถ้าผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิอย่างที่ควรจะได้รับ จะนำอะไรเข้าสู่ประเทศเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ บันเทิง ผับ บาร์ ต่างๆ เรามีการส่งออกซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท แทบจะเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และมีเมดิคัลฮับ ในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ ฮอร์โมนต่างๆ

ไทยคือสวรรค์ของการท่องเที่ยวในกลุ่ม LGBTQ+ ภาคประชาสังคมพร้อมมานานแล้ว เรารอแค่รัฐบาลให้การสนับสนุน เรื่องการเรียกร้องสมรสเท่าเทียม ก็ไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เป็นการเรียกร้องในสิ่งที่เขาควรจะได้รับเทียบเท่ากับคู่สมรสชายหญิงปกติ ในหลายๆ ประเทศ มีการรองรับตรงนี้แล้วและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศดีมาก LGBTQ+ คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม

งาน “บางกอก ไพรด์ 2023” จะมีขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.2566 โดยขบวนพาเหรดจะเริ่มจากแยกปทุมวัน หอศิลป์ เดินผ่าน 3 สยามไปหยุดที่เซ็นทรัลเวิลด์ ที่บริเวณหอศิลป์จะมีเวทีกิจกรรมย่อย มีกิจกรรมอาร์ตเวิร์กที่ทำกับกลุ่มศิลปินอิสระ โซน 3 สยาม จะประดับตกแต่งต้อนรับพวกเราเป็นเรนโบว์สวยงาม มีจุดแอ๊กทิวิตี้พ้อยจะทำกิจกรรม โชว์ต่างๆ และมีเวทีกิจกรรมที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์

“นอกจากงานวันที่ 4 มิ.ย. เรายังมีการเฉลิมฉลองทั้งเดือนด้วยกิจกรรมไพรด์พาเหรดทั่วประเทศ ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิ.ย. จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับแฟชั่น เพลงต่างๆ กับทางสยาม ปีนี้คาดว่าคนจะมาร่วมงาน ขั้นต่ำ 50,000 คน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ปีนี้เตรียมงานมานานกว่า 6 เดือน ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้ง กทม. หน่วยงานราชการ ซึ่งทาง กทม.พร้อมจะ ผลักดัน กทม.ไปเป็นเรนโบว์ซิตี้เน็ตเวิร์กด้วย ภาคสังคม ภาคเอกชน ช่วยกันผลักดันมากๆ เราแข็งแรงและพร้อมมากที่จะจัดงานให้ ยิ่งใหญ่ขึ้น” ผู้ก่อตั้งองค์กรนฤมิตกล่าว

แป๋ม ชฎาทิพ กล่าวว่า เราสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ มานานมากแล้ว สิ่งที่ สยามพิวรรธน์ทำคือเราให้โอกาส เพราะเราเติบโตขึ้นด้วยการให้โอกาสของคน ธุรกิจที่เราทำเรายึดมั่นในการสมประโยชน์และสร้างคุณค่าร่วมกัน การสร้างคุณค่าร่วมกันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในการทำธุรกิจ สยามพิวรรธน์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาใช้ร่วมกัน การที่เราจะบริการลูกค้า สังคม ชุมชนด้วยความเสมอเท่าเทียมกัน ที่สำคัญคือเราสร้างโอกาสให้ใครได้เราจะทำ ซึ่งล่าสุดเราทำงานร่วมกับกลุ่ม UNDP อย่างเป็นทางการ แม้ว่าอันที่จริงเราจะทำงานเพื่อส่งเสริมความหลากหลาย มานานมากแล้ว

เนื่องในโอกาสที่เราจะกิจกรรม ‘บางกอก ไพรด์ 2023’ สยามได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจัดกิจกรรมหลายอย่างในเดือนไพรด์ ทั้งการประดับตกแต่งทั้ง 3 สยาม มีโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกันกับองค์กรนฤมิต การร่วมมือกับพันธมิตรออกแพ็กเกจประกันภัยสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ สยามเซ็นเตอร์เป็นพื้นที่สีขาวที่ให้ทุกคนมาแต้มสี เราเปิดกว้างทุกอย่างทั้งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้บกพร่องต่างๆ กลุ่มคนชรา เราเป็นสถานที่จุดประกายในสถานที่กับทุกกลุ่ม

นอกจากนี้มีการพูดคุยกันถึงงานเวิลด์ไพรด์ว่าเราอยากให้มีการจัดในประเทศไทย ถ้าเราได้จัดงานนี้ จะได้รับความสนใจจากคน ทั่วโลกในเรื่องของความเท่าเทียม

กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จะช่วยสนับสนุนเต็มที่ในการไปดึงงานนี้มาให้ได้ ซึ่งงานจะมีขึ้นในปี 2028 โลกจะมองว่าประเทศเรามีเสรี คิดว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศชาติ เวลามีงานระดับโลกเกิดขึ้น ที่ประเทศไทยจะมีคนเดินทางมานับแสน จะนำมาอะไรมาอีกมากมาย ทั้งเรื่องชื่อเสียง เศรษฐกิจ

“เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง ในประเทศเรากลุ่ม LGBTQ+ คิดเป็นหลายเปอร์เซ็นต์ในจำนวนประชากรของเรา ทุกคนเป็นคนไทย หากจะทำสิ่งนี้ให้เป็นรูปธรรมทั้งกฎหมาย สวัสดิการรัฐ จะเป็นผลดี อยากให้ใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย ทำให้เราเป็นประเทศตัวอย่างในเอเชีย จึงขอฝากพรรคการเมืองไว้ ไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไหนทำได้ประเทศชาติก็จะได้ประโยชน์” แป๋ม ชฎาทิพกล่าว

ในส่วนตัวแทนจากพรรคการเมือง ปกป้อง ชานันท์ กล่าวว่า พรรคการเมืองมีความคาดหวังว่าจะสามารถจัดงานเวิลด์ไพรด์ได้ด้วย ซึ่งงานนี้ต้องอาศัยความพร้อมของรัฐ สาธารณสุข การศึกษา กฎหมาย เราหวังว่าหลังการเลือกตั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่าน เพราะหลายพรรคการเมืองก็พูดถึงประเด็นนี้กันหมด เว้นบางพรรคที่พูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นการเกาไม่ถูกที่คันในการแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ จึงหวังว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลัง เลือกตั้งครั้งนี้จะผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม

“หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่อยากทำคือสมรสเท่าเทียม และขยายเรื่องสปสช. สุดท้ายที่อยากจะฝากคือความเท่าเทียม ความหลากหลายไม่ใช้แค่เพียง LGBTQ+ เท่านั้น ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผู้พิการ ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องสิทธิ สวัสดิการต่างๆ อยู่ ทางพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ฝ่ายเดียว ต้องอาศัยภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมถึงจะสำเร็จได้” ชานันท์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน