นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือน ต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัวฯ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ณ มหาวิหาร เวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน โดยเสด็จพระราชดำเนินจากโรงแรมเดอะแลนด์มาร์ก ลอนดอน โรงแรมที่ประทับ ไปทรงร่วมงานพระราชทานเลี้ยงรับรองพระประมุข ประมุข และผู้แทนของประเทศต่างๆ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ณ พระราชวังบักกิงแฮม ในเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านมีประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงพระราชวัง บักกิงแฮม ทรงพระดำเนินไปยังห้องที่จัด ไว้สำหรับพระประมุขประเทศต่างๆ อาทิ ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรบาห์เรน ราชอาณาจักรภูฏาน ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ รัฐการ์ตา และประเทศญี่ปุ่น ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข ประมุข และพระราชวงศ์ต่างประเทศที่มาร่วมงานพระราชพิธี

เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จออก ณ ห้องโถง เดอะพิกเจอร์ แกลเลอรี่ และเสด็จพระราชดำเนินถึงห้องที่จัดไว้สำหรับพระประมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จ พระราชินีคามิลลา และเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์

ในวันที่ 6 พฤษภาคม พสกนิกรจำนวนมากจากทั่วสหราชอาณาจักรและจากทั่วโลกเดินทางมารวมตัวกันที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อรอชมขบวนเสด็จของสมเด็จ พระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมสมเด็จ พระราชินีคามิลลา จากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นบริเวณมณฑลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นงานพระราชพิธีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี ตามโบราณราชประเพณีการเสด็จขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์อังกฤษที่สืบทอดกันมานานถึง 1 พันปี โดยสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษที่มีพระชนมายุมากที่สุดขณะขึ้นครองราชย์ ท่ามกลางพระประมุข พระราชวงศ์ และพระราชอาคันตุกะจากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้แม้จะดำเนินการตามขั้นตอนโบราณราชประเพณี แต่ปรับโฉมในรายละเอียดเพื่อให้เรียบง่ายและเข้ากับยุคสมัยศตวรรษที่ 21 โดยมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2496 แต่ยังคงความยิ่งใหญ่อลังการไว้ เช่น การนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ล้ำค่ามาใช้ตามโบราณราชประเพณี อาทิ ลูกโลกประดับกางเขน และ พระคทาประดับเพชรคัลลิเนนที่ 1 ขวดน้ำมันและฉลองพระหัตถ์ช้อนทองคำ ตลอดจนพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด พระมหามงกุฎควีนแมรี และบัลลังก์ราชาภิเษก อายุ 700 ปี พระราชอาสน์เซนต์เอ็ดเวิร์ดซึ่งใช้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษมาแล้ว 26 พระองค์

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีคามิลลา ประทับในราชรถทองคำพร้อมกองทหารม้าราชองครักษ์ เสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮม โดยกระทรวงกลาโหมอังกฤษใช้กำลังทหารกว่า 7 พันนายจากทุกเหล่าทัพเข้าร่วมปฏิบัติการเชิงพิธีการครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในชั่วอายุคนรุ่นหนึ่ง เป็นการสวนสนามและ ถวายการอารักขาตลอดเส้นทาง เมื่อขบวนเสด็จกลับถึงพระราชวังบักกิงแฮม กองทหารที่เข้าร่วมการสวนสนามวันทยาหัตถ์ถวายความเคารพกษัตริย์และพระราชินีพระองค์ใหม่พร้อมเปล่งเสียงถวายพระพร 3 ครั้ง

จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยสมเด็จ พระราชินีคามิลลา เสด็จออกสีหบัญชรพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อทอดพระเนตรการบินเทิดพระเกียรติจากทุกเหล่าทัพเหนือ พระราชวังบักกิงแฮม ปิดท้ายด้วยการแสดงของฝูงบินผาดแผลงของทัพฟ้าอังกฤษ หรือฝูงบินศรแดง เรดแอร์โรว์

นับเป็นสัญญาณสิ้นสุดการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ “คิงชาร์ลส์และควีนคามิลลา” อย่างเป็นทางการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน