หอการค้าเผยเงินสะพัดเปิดเทอม 5.7 หมื่นล้าน สูงสุดรอบ 14 ปี โดยผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 19,507 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 6.6%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้สำรวจความเห็น “ประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,230 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีบุตร 1-2 คน พบปีนี้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าบำรุงการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน แบบเรียนและชุดนักเรียนเฉลี่ย 19,507.33 บาท ต่อคน เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 2562 ที่อยู่ 18,299.94 บาทต่อคน ส่งผลทำให้เงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 57,885 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 14 ปี

ถือว่าเป็นมูลค่าเทียบเท่ากับในช่วงเปิดเทอมก่อนโควิด-19 แล้ว ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว แต่ยังคงฟื้นตัวแบบเปราะบาง และ ยังคงอยู่ในรูป K เชฟ เนื่องจากบางส่วนยังคงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และส่วนใหญ่ยังเห็นว่าโครงการเงินกู้ กยศ. ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้มาก

ทั้งนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 63% จะบอกว่ามีเงินเพียงพอกับ การใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม โดยเงินที่นำมาใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากเงินออม รองลงมาเป็นเงินเดือน แต่ที่เหลืออีก 36.5% นั้นตอบว่าเงินไม่เพียงพอ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่ต่ำสุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2559 โดยกลุ่มนี้ จะใช้วิธีการเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดมากถึง 23% รองลงมา คือจำนำทรัพย์สิน กู้เงินในระบบ และยืมญาติพี่น้อง ส่วนการกู้เงินนอกระบบมีเพียง 7% ซึ่งถือว่าไม่มาก ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไม่ดี หรือจะกลายเป็นปัญหาเพิ่มหนี้สินในระยะยาว เพราะ เป็นเพียงการหมุนเวียนเงินในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของผู้ปกครอง ยังมองว่าการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ส่งผลต่อการทำความเข้าใจของเด็กเล็ก ทำให้ การศึกษามีปัญหา หลักสูตรไม่เปลี่ยนให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก จำนวนครู อาจารย์มีน้อยไม่เพียงพอต่อ ความต้องการ และควรปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง ของโลกในยุคปัจจุบัน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนให้ทัดเทียมกันด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน