จับตานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
โจทย์หินรัฐบาลชุดใหม่คิดง่าย-ทำยาก

รายงานพิเศษ

วันนี้เป็นวันที่คนไทยได้เข้าคูหาเลือกตั้ง ที่ต้องบอกว่า โฉมหน้ารัฐบาลใหม่ขณะนี้ “ออกได้ทุกหน้า” และก็เป็นเรื่องปกติ ที่แทบทุกพรรคการเมืองจะชูนโยบายปากท้อง กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือผลักดันรัฐสวัสดิการ ที่เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียดในแต่ละพรรค ก็ล้วนใช้เงินหลายแสนล้านบาท

เช่น มาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท การเพิ่มเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 600-1,000 บาท หรือ การอัดรัฐสวัสดิการ เพิ่มเงินผู้สูงอายุกว่า 3,000 บาทต่อเดือน

ไม่นับรวมมาตรการลดแลกแจกแถมทางภาษี และการอัดสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เป็นภาระต่องบประมาณ ไม่ทางตรงก็ ทางอ้อม

ต้องไม่ลืมว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย ปากท้องประชาชน บอบช้ำกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายฉบับพิเศษ กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยเต็มกำลัง กฎเกณฑ์ กฎหมาย วินัยการคลัง ที่เคยตีเส้นไว้ ก็เข้าสู่ภาวะ “อะลุ้มอล่วย” เช่น ปรับเพดานก่อหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็น 70% ซึ่งขณะนี้ระดับหนี้ก็อยู่ที่ราว 60%

โดยมุมมองในการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่นั้น นายเศรษฐพุฒิ สุทธิ วาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าสู่โหมดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว








Advertisement

“ปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.6% ซึ่งมองว่าระดับการเติบโตของจีดีพีกลับเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 1/2566 โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คือ ท่องเที่ยว และยังเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งออกจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ราว 4% จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 7% รวมถึงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้เกิน 4%”

และแม้ ธปท.ไม่ขอแสดงความเห็นกับนโยบายที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียง แต่ในหลักการแล้วหากเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วบั่นทอนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เรื่อง

ประกอบด้วย 1.เสถียรภาพด้านราคา นโยบายที่ออกมาจะต้องไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นมาก (ไฮเปอร์ อินเฟรชั่น) เช่นในหลายประเทศที่จะต้องมีการพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพ ทำให้นโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลังเกินความจำเป็น จนขาดเสถียรภาพในการกำหนดนโยบาย

2.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เช่น การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไปกระทบกับความเชื่อมั่นของ นักลงทุน

3.เสถียรภาพด้านฐานะการคลัง ที่จะต้องคำนึงบน พื้นฐานหลายอย่าง ไม่ให้ภาระการคลังสูงเกินไปจนกระทบกับเสถียรภาพและหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รวมถึงภาระหนี้ต่องบประมาณจะต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป โดยในส่วนของไทยปัจจุบันภาระหนี้ต่องบประมาณยังอยู่ในสัดส่วน 8.5% และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 8.75% แต่หากมีการทำนโยบายใช้จ่ายที่กระตุ้นภาระหนี้ให้สูงมากกว่า 10% ประเทศก็อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

และ 4.เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ก็ต้องทำนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้ผิดวินัยการชำระหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ

“นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่รูปแบบ วิธีการในแต่ละนโยบาย แต่ในมุมของ ธปท. เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น แต่ควรที่จะให้น้ำหนักในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการ ได้ผลในระยะสั้น ส่งผลข้างเคียงให้เกิดภาระหนี้ตามมา จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะเร่งผลักดันเรื่องโครงสร้าง พื้นฐาน”

ขณะที่กระทรวงการคลัง โดย นายพรชัย ธีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า กรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายหาเสียงและมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก มาตรการต่างๆ คงไม่สามารถดำเนินการภายใต้งบประมาณปี 2566 ได้ทัน และหากมีความต้องการใช้งบประมาณ ก็จะเหลือช่องว่างให้ใช้ได้อยู่อีกไม่มาก เช่น งบกลางกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่ 9.24 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งแรกคือการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จากการหารือกับสำนักงบประมาณ ตามแผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้ในปี 2566-2570 มีการกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนใช้จ่าย งบประจำ งบลงทุน ไว้หมดแล้ว

จะต้องดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่เมื่อมีการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร จะต้องดูว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด ต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่?

นายพรชัยกล่าวว่า แผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้อยู่ ปี 2566-2570 มีหลักการที่สำคัญคือ 1.ต้องการลดการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี ซึ่งปี 2567 ตั้งไว้กู้ชดเชยการขาดดุลที่ 3% เป็นตัวเลขที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่มีภาระด้านการคลังเหมือนไทยหลังสถานการณ์โควิดมา และหลังจาก ปี 2567 ก็จะทยอยลดลงต่ำกว่า 3% เรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คลังตั้งหลักไว้ ณ ปัจจุบัน เป็นกติกาที่ทำไว้ให้เกิดวินัยด้านการคลัง ควบคุมการใช้จ่าย ลดภาระรัฐบาล

เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการคลังในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย การจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะเพื่อให้มีการบริหารพื้นที่ทางการคลังให้เหมาะสม

3.การมุ่งสู่ภาคการคลั่งที่ยั่งยืน และมีศักยภาพในการรับความเสี่ยงของประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการมุ่งทำงบประมาณสมดุลในอนาคตตามแผนการคลังระยะปานกลาง?

นอกจากนี้ ในส่วนของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ จีดีพี ซึ่งมีเพดานอยู่ที่ 70% จากปัจจุบันสัดส่วนหนี้อยู่ที่ราว 60% ซึ่งจำนวนเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะกู้ได้ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิดมีการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในสถานการณ์โควิด 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาเยียวยาผลกระทบ การเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งงบที่ออกมาจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ซื้อวัคซีน ทำโครงการจ้างงาน ให้ประชาชนมีรายได้ประทังในช่วงที่เกิดโควิด ดังนั้น การกู้เงินต่างๆ จะต้องดูในเรื่องของผลกลับคืนมาให้กับประเทศ

“ในด้านวินัยการคลังมองว่าถ้ากู้มาแล้วก็ควรจะนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนกลับมาสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง รวมถึงสาธารณูปโภค พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ถ้ากู้มาแล้วควรจะมีผลิตภาพที่มากขึ้น ดังนั้น วงเงินกู้ที่มีก็ไม่จำเป็นที่จะใช้เต็มวงเงินก็ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระของลูกหลานของเรา ที่ต้องมาหารายได้ชำระคืนเงินกู้ รวมทั้งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ จะมองว่าเรามีการใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น ก็ต้องไปดูวิธีการและโครงการที่จะนำเงินมาใช้จริงๆ”

ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่เพียงแต่จัดสรรงบประมาณให้สนองต่อนโยบาย นับเป็นโจทย์หินที่ไม่ว่าใครที่เข้ามาทำงาน

คงต้องคิดหนักกันพอสมควร!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน