เวลา 06.15 น. โดยประมาณ เครื่องบินของสายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์ แตะรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย

นี่อาจเป็นเรื่องราวปกติธรรมดา ทว่า ไม่ใช่สำหรับเที่ยวบิน UL402 ในเช้าวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พุทธศักราช 2566

เนื่องด้วยเป็นเที่ยวบินซึ่งอัญเชิญต้นพระศรีมหาโพธินามว่า ‘ปรมัตถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร’ จากประเทศศรีลังกา มายังดินแดนไทย

ถือเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ในการพระศาสนาระหว่าง 2 ชาติ นับแต่ครั้งพุทธศาสนาลัทธิ ‘ลังกาวงศ์’ จาก (ศรี) ลังกา เผยแผ่สู่ผืนแผ่นดินสยามนานนับเนื่องหลายศตวรรษ หยั่งรากลึกในจิตใจของคนไทยจวบจนวันนี้

06.37 น. คณะสงฆ์จากศรีลังกา นำโดย ท่านอมตสถานธิปติ พลเลกม เหมรัตน นายกเถโร (Pallegama Hemarathana) เจ้าอาวาส วัดพระศรีมหาโพธิ เจ้าคณะมณฑลอนุราธปุระ พร้อมด้วย เจ้าอาวาสวัดถูปาราม และเจ้าอาวาสวัดมิริสเวติยะวิหาร หรือมิริสวาฏิ แห่งเมืองอนุราธปุระปรากฏตัว ณ ห้องรับรองพิเศษ สนามบินสุวรรณภูมิ เบื้องหน้าอุบาสกอุบาสิกาชาวไทยที่เฝ้ารอรับพระศรีมหาโพธิด้วยความตั้งมั่นในห้วงแห่งศรัทธา เพื่ออัญเชิญไปปลูกยัง ‘ลานธรรมหลวงพ่อทวด’ วัดแหลมแค อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

❑ จากอินเดียถึงอนุราธปุระ จากลังกาถึงสุวรรณภูมิ
พระศรีมหาโพธิ ‘ปรมัตถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร’ มีความสำคัญยิ่ง ดังที่ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลางพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายไทย เปิดเผยว่า เป็นหน่อจาก ต้นพระศรีมหาโพธิที่พระนางสังฆมิตตาเถรี ภิกษุณีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย นำกิ่งด้านขวาของต้น พระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ชมพูทวีป ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ ไปถวายแด่พระเจ้าเทวานัมปิยตัสสะ แห่งลังกาทวีป โดยปลูกไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ ราชธานีเก่าแก่ กระทั่งมีอายุยืนนานมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2,300 ปีล่วงมาแล้ว และยังคงได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลศรีลังกา








Advertisement

ตัดภาพมายังวันนี้ ‘ปรมัตถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร’ ถูกบรรจุอย่างประณีต ในกล่องแน่นหนาผูกด้วยโบสีทองงดงาม ท่านอมตสถานธิปติ พลเลกม เหมรัตน นายกเถโร เจ้าคณะมณฑลอนุราธปุระ บรรจงเปิดผนึก เผยให้เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งแผ่กิ่งก้านถึง 8 กิ่ง

สาธุชนพร้อมกันเปล่งวาจา ‘สาธุ’ อย่างกึกก้อง

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี พร้อมด้วยคณะสงฆ์จากศรีลังกา ร่วมกันประคองลงดินในบาตรสีทองอร่ามที่จัดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อแล้วเสร็จอุบาสกอุบาสิกาเปล่งเสียงสาธุ 3 ครั้ง พร้อมโบกสะบัด ‘ธงฉัพพรรณรังสี’ อันเป็นสื่อสัญลักษณ์สากลแห่งพระพุทธศาสนา

จากนั้นพระเถระทั้ง 2 แผ่นดินร่วมกันสวดพระพุทธมนต์ สาธุชนที่ยืนห้อมล้อมพากัน นั่งลง ประนมมือทั้ง 2 ขึ้นบูชาพระรัตนตรัย กล่าวถ้อยคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ

ในตอนหนึ่ง พระเถระจากศรีลังกานำสวดด้วยภาษาบาลี ภาษาสากลของชาวพุทธทั่วโลก พุทธมามกะชาวไทยตอบรับอย่างไร้กำแพงภาษา จนจบพิธีเมื่อเวลา 07.17 น. สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีเอื้อนเอ่ยวาจา ‘ขอความสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน’ พุทธมามกะ รายล้อมนำดอกไม้มีกลิ่นหอมขจรขจายโปรยลงบนโคนดินในบาตร ขอพระพุทธศาสนางอกงาม ยั่งยืนนาน

❑ ศรัทธาตั้งมั่น จารึกประวัติศาสตร์ในพุทธศาสนายุกาล 2566
ครั้นเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ หรือ ‘บิ๊กเด่น’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อุ้มบาตรอัญเชิญต้น พระศรีมหาโพธิ นำขบวนโยมอุปัฏฐาก ส่วนหนึ่งในนั้น ได้แก่ น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นางประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และ เดลินิวส์ออนไลน์ รวมถึง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยบุคคลจากแวดวงต่างๆ มากมาย

ในการนี้ ยังได้รับเกียรติจากท่านกีรติ สิริเมวัน คุณะติลลเก (Keerthi Sirimevan Goonatillake) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีศรีลังกา ด้านพุทธศาสนา อีกทั้งอุปัฏฐากชาวศรีลังกาเดินทางมาเยือนและร่วมขบวนด้วย

08.30 น. เสียงดนตรีประโคมดังแว่วมาจากที่ว่าการอำเภอพานทอง แห่งเมืองชลบุรี ซึ่งมีผู้คนคลาคล่ำตั้งขบวนพร้อม 5 ช้าง มงคลหัตถี จาก ‘วังช้างอยุธยาเพนียด’ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ รอรับพระศรีมหาโพธิ เพื่ออัญเชิญขึ้นหลังช้าง พร้อมเดินเท้าไปยังวัดแหลมแค

ขณะที่บรรยากาศบริเวณวัดแหลมแค ชาวบ้านสวมใส่อาภรณ์สีขาวบริสุทธิ์เดินทางจากบ้านเรือนโดยรอบทั้งใกล้และไกล ผู้คนจากต่างถิ่น ชาวพุทธจากทั่วประเทศมุ่งหน้าสู่ลานธรรม หลวงพ่อทวด เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์ และมี ส่วนร่วมในการบุญครั้งนี้ โดยมีพระเถรานุเถระมากมายจาก วัดวาอารามสำคัญ นั่งประจำปะรำพิธี

10.12 น. ขบวนอัญเชิญพระศรีมหาโพธิเดินเท้ามาถึงหลัง กลุ่มเมฆฝนโปรยปรายชุ่มฉ่ำ เปลี่ยนอุณหภูมิร้อนสู่บรรยากาศ ร่มเย็น พร้อมสายรุ้งงดงามที่พาดผ่านเป็นฉากหลังของลานธรรมหลวงพ่อทวด

ต้นพระศรีมหาโพธิ ‘ปรมัตถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร’ ตระหง่านบนหลังช้างมงคลหัตถีเชือกแรก ตามด้วย นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ซึ่งนั่งมาบนหลังช้างเชือกที่ 2 และคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของศรีลังกาตามลำดับ

พร้อมด้วยขบวนพระภิกษุสงฆ์ 50 รูป ขบวนธง ขบวนสตรี แต่งกายเสมือนนางฟ้า หน่วยราชการ และนักเรียนจากสถาบันต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี

พุทธศาสนิกชนลุกขึ้นเปล่งวาจา ‘สาธุ’ ท่ามกลางธงชาติไทย เคียงคู่ธงชาติศรีลังกาที่ประดับโดยรอบในพุทธศาสนายุกาลที่ล่วงผ่านมาถึง 2566 ปี

❑ ดิน-น้ำศักดิ์สิทธิ์ สถิต ‘พระศรีมหาโพธิ’
จากนั้นเข้าสู่อีกช่วงเวลาสำคัญ คือพิธีเสี่ยงทายว่าต้นพระศรีมหาโพธิจะสถิต ณ จุดใด โดยมีพระเถระ 4 รูปประจำจตุรทิศ ได้แก่ พระธรรมวชิรมุนี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ, พระธรรมวชิราภรณ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 13 เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร, พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (หลวงพ่ออิฏฐ์) วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม และ พระครูปลัดอังกูร โชตโก เจ้าอาวาสวัดเขาบางพระ เลขานุการเจ้าคณะตำบลบึง อำเภอศรีราชา ชลบุรี

ช้างมงคลหัตถีเดินประทักษิณบนลานธรรม เมื่อถึงบริเวณด้านหลังประติมากรรมหลวงพ่อทวด ช้างต่างเปล่งเสียงร้องตรงจุดเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง จึงมีการอัญเชิญ ‘ปรมัตถสิริ มหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร’ ปลูกในจุด ดังกล่าว โดยมีมูลดินจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ดินจากวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี อารามเก่าแก่ใน ‘ดงศรีมหาโพธิ’ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ.2451 ความตอนหนึ่งว่า ‘ดงศรีมหาโพธินี้ ได้ชื่อจากต้นโพธิต้นหนึ่ง ซึ่งว่าเป็นโพธิ์เก่าแก่ เป็นที่นับถือสักการบูชา’

ดินจากวัดธรรมาราม พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ส่งพระอุบาลีจากวัดดังกล่าวไปยังลังกา เพื่อช่วยฟื้นพระพุทธศาสนาตามคำเชิญของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ, ดินจากวัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งรัชกาลที่ 2 โปรดให้นำต้นพระศรีมหาโพธิที่คณะสมณทูตไทยอัญเชิญมาจากเมืองอนุราธปุระมาปลูก เมื่อ พ.ศ.2361 และดินจากลานต้นศรีมหาโพธิ เขาชีจรรย์ ชลบุรี เป็นต้น

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี คณะสงฆ์จากศรีลังกา พร้อมด้วยเถรานุเถระ และบุคคลต่างๆ รวมถึง นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมพิธีปลูก และรดน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทั่วประเทศ อาทิ สระเจ้าคุณเฒ่า วัดเขาบางทราย พระอารามหลวง ชลบุรี, น้ำมนต์จากวัดโสธรวราราม ฉะเชิงเทรา, วัดไร่ขิง นครปฐม วัดเขาตะเครา เพชรบุรี รวมถึงน้ำจากสระมรกต ปราจีนบุรี เบื้องหน้ารอยพระพุทธบาทคู่ที่เก่าแก่ที่สุดในไทย ยุคทวารวดี

จากนั้นเวลา 10.54 น. พุทธศาสนิกชนร่วมกันเปล่งเสียงบูชาพระรัตนตรัย ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เป็นอันเสร็จพิธี

นอกจากนี้ ยังมีการมอบประกาศนียบัตรย้ำชัดถึงการมอบ ‘ปรมัตถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร’ จากศรีลังกาสู่ประเทศไทย

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจดจารในประวัติศาสตร์ของการธำรงไว้ซึ่ง พระศาสนา

สะท้อนสายสัมพันธ์ลึกซึ้ง แม้ต่างชาติ คนละภาษา บนศรัทธาที่มีร่วมกันใน หลักธรรมแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันหลอมรวมจิตใจของชาวพุทธไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน

พรรณราย เรือนอินทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน