อีอีซีฝากการบ้านรัฐบาลใหม่
งัดมาตรการสู้ศึกชิงนักลงทุนต่างชาติ

รายงานพิเศษ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของไทยเสร็จสิ้นไปแล้ว รอเพียงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่คาดว่าอีกซักระยะกว่าจะสะเด็ดน้ำ

ส่วนที่ได้ตำแหน่งแล้วแน่ๆ คือ นายจุฬา สุขมานพ เลขาฯ คณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี คนใหม่

ที่พกประสบการณ์การทำงานในกระทรวงคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในตำแหน่งอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า อดีตอธิบดีกรม ท่าอากาศยาน และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน แห่งประเทศไทย

เข้ามากุมบังเหียนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายจุฬายืนยันว่า ขณะนี้มีความพร้อมในการสนับสนุนการลงทุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างอุตสาหกรรมการแพทย์-ดิจิทัล-เทคโนโลยีขั้นสูง-ยานยนต์ และเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (B) เศรษฐกิจหมุนเวียน (C) และเศรษฐกิจสีเขียว (G) หรือบีซีจี) ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้

“อีอีซีมีหน้าที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพในการรองรับการลงทุน ส่วนที่เหลืออยากให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่างๆ ให้มีความชัดเจนเปรียบเสมือนนักลงทุนเป็นสาวสวย จึงมีหลายประเทศเข้าไปจีบ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุน ดังนั้น ไทยต้องงัดมาตรการและกลยุทธ์ต่างๆ เข้าสู้ เพื่อแสดงความพร้อมและเชิญชวนนักธุรกิจเข้ามาลงทุน”

โดยนายจุฬากล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ว่า ในส่วนของการดำเนินงานของภาครัฐ อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานทางวิ่งที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการในเดือน พ.ค.2566 นี้ และ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) ช่วงไตรมาส 3/2566

“โครงการสนามบินอู่ตะเภา เป็นประตูการค้ารองรับนักลงทุน ผู้ประกอบกิจการ และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในอีอีซี รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงของประเทศ”

มื่อการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่โครงการรวม 6,500 ไร่ ใช้เงินลงทุน 204,240 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาครัฐ 17,674 ล้าน และการลงทุนภาคเอกชน 186,566 ล้าน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

“ผลตอบแทนที่ได้จากโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินด้านการเงิน จะมีรายได้จากค่าเช่าที่ดิน และส่วนแบ่งรายได้ 1,326,000 ล้านบาท ภายใน 50 ปี ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 62,000 ล้านบาท ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เพิ่มเทคโนโลยี พัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ”

ข้อมูลของ UTA เกี่ยวกับโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก จะมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ องค์ประกอบแรก อาคารผู้โดยสารอัจฉริยะหลังที่ 3 พื้นที่ 400 ไร่ สามารถรองรับ ผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี ในการก่อสร้างระยะที่ 4 จะมุ่งสู่การเป็นสนามบินอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถ ทั้งยังได้นำระบบการเก็บข้อมูลแบบ “One-ID” หรือระบบยืนยันตัวตนเพื่อใช้เป็นไอดีกลางเชื่อมต่อบริการออนไลน์

องค์ประกอบที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและ โลจิสติกส์ ประกอบด้วย ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ คลังสินค้า ศูนย์คัดแยก/กระจายสินค้า การจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ คลังสินค้าออนไลน์ อยู่ในพื้นที่ 300 ไร่ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศหลายรูปแบบไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ ทำให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึก ถนน และระบบราง

องค์ประกอบที่ 3 เมืองการบิน มีพื้นที่ 1,000 ไร่ ทุกระบบขับเคลื่อนด้วยระบบอัจฉริยะและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รองรับการทำงานและอยู่อาศัย ตลอดจนการเป็นศูนย์รวมประสบการณ์ด้านความบันเทิง กีฬา ระบบเมืองและการขนส่งยุคอนาคต ภายใต้วิสัยทัศน์ “BUILD FOR BUSINESS DESIGNED FOR LIVING” รองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัตโนมัติ และอากาศยานไร้คนขับ มีระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางที่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานกว่า 30% และเป็นสังคมไร้เงินสด

สำหรับการแบ่งพื้นที่ใช้งานของเมือง การบิน จะแบ่งออกเป็น 14 โซน ได้แก่ โซนห้างสรรพสินค้า 41 ไร่ พื้นที่การใช้สอย 66,768 ตร.ม. โซนโรงแรมระดับ 3 ดาว 15 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 25,328 ตร.ม. โซนศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ 147 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 235,584 ตร.ม. โซนที่อยู่อาศัย มิกซ์ยูส 97 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 156,544 ตร.ม. โซนคอมมูนิตี้ฮับ 49 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 79,696 ตร.ม.

โซนที่อยู่อาศัยมิกซ์ยูส สำหรับครอบครัว 37 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 59,568 ตร.ม. โซนร้านอาหารริมน้ำ 8 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 13,472 ตร.ม. โซนย่านศิลปะ 13 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 20,976 ตร.ม. โซนพื้นที่การใช้งานแบบผสมผสาน 15 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 23,984 ตร.ม.

โซนที่พักผ่อนแบบผสมผสาน 30 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอย 49,040 ตร.ม. โซนพื้นที่เกาะ 6 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 9,632 ตร.ม. โซนโรงแรมระดับ 4 ดาว และมิกซ์ยูส 26 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 41,936 ตร.ม. โซนพิพิธภัณฑ์ศิลปะ 6 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 10,048 ตร.ม. และโซนโรงแรมระดับ 5 ดาว 78 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 125,424 ตร.ม.

ในส่วนของความก้าวหน้าการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในสนามบิน ได้แก่ งานระบบไฟฟ้าได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลัง แสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเป็นพลังงานสะอาดตามแนวคิดหลักของอีอีซี กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะให้บริการได้ภายในเดือน ม.ค.2567 จะทำให้สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เข้าสู่การใช้พลังงานสีเขียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

งานระบบอื่นๆ เช่น งานน้ำประปา ในระยะแรกจะผลิตได้ 10,000 ลบ.ม./วัน จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุด 20,000 ลบ.ม./วัน และบำบัดน้ำเสีย ในระยะแรกจะบำบัดน้ำเสียได้ 8,000 ลบ.ม./วัน ขยายได้สูงสุด 16,000 ลบ.ม./วัน คาดว่าทั้ง 2 ส่วนนี้จะเปิดให้บริการปี 2568

ในด้านงานระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน มีการก่อสร้างคืบหน้าต่อเนื่อง โดยในระยะที่ 1 จะมี 3 ถัง ถังละ 5 ล้านลิตร รวม 15 ล้านลิตร ขยายได้สูงสุด 35 ล้านลิตร ท่อส่งน้ำมันใต้ลานจอด รองรับ 118 หลุมจอด และระบบการให้บริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน จะแล้วเสร็จภายในปี 2568

สำหรับการดำเนินงานของภาคเอกชน ในส่วนของการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน คลังสินค้า ลานจอดอากาศยาน ถนน และสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจการบิน และการออกแบบรายละเอียดต่างๆ แต่ละโครงการเพื่อเตรียมก่อสร้าง คาดจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 2570

“สิ่งสำคัญที่อยากเห็นคือ ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่มีความพร้อมด้านเงินทุน มีความสนใจและมองหาประเทศที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทย” นายจุฬาระบุ

เป็นอีกงานใหญ่ที่รอรัฐบาลชุดใหม่มาสานต่อ

จุฬา สุขมานพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน