นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 43 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,654 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 487 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ จำนวน 217 ราย เม็ดเงินลงทุนรวม 38,702 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 2,419 คน โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสุงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย สิงคโปร์ 35 ราย สหรัฐอเมริกา 34 ราย จีน 14 ราย เป็นต้น

“เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีนี้กับปีก่อน พบว่ายอดต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย เพิ่มขึ้น 21 ราย หรือเพิ่มขึ้น 11 % มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,321 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% จาก 36,381 ล้านบาท เป็น 38,702 ล้านบาท และจ้างงานคนไทยรวม 2,419 คน เพิ่มขึ้น 141 ราย หรือเพิ่มขึ้น 6% โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565”

นายทศพลกล่าวว่าถึง การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนใน EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุน จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้า และด้านการบริหารจัดการระบบการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์, บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม, บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน