ปัจจุบัน เอไอ (Artificial Intelligence) นั้น มีความเกี่ยวข้อง ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของทุกคนมาก และในเกือบทุกวงการก็มีการนำเอไอมาใช้งานมากขึ้น รวมไปถึงด้านออทิสติกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา หรือทางการแพทย์ ที่จะช่วยเหลือเด็กออทิสติกมากขึ้น

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ ร่วมกับภาคีเครือข่ายการดูแลบุคคลออทิสติกจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมวิชาการ เปิดโลกออทิสติก ครั้งที่ 14 “AI for Autism : นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” โดยมี นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีเปิด มีผู้เข้าร่วมการประชุม 300 คน ที่ห้องแกรนด์พาวิลเลี่ยน ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น

ดร.สมพร หวานเสร็จ ผอ.เชี่ยวชาญ ระดับ 9 อาจารย์ที่ปรึกษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย ฝ่ายการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นในธีมงาน “AI for Autism : นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” ซึ่งนับว่าเป็นธีมงานที่มีความสำคัญและน่าสนใจมาก มีการวิจัยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ มีการนำเอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการออทิสติก ในเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ ที่ช่วยวิเคราะห์อาการออทิสติกได้ทันท่วงที

เทคโนโลยีเอไอนี้ก็ยังใช้กับการรักษาทางไกล หรือการเช็กอาการย้อนหลังได้ หรือการสร้างนวัตกรรมสุดอัจฉริยะ “เก้าอี้กอด OTO” ช่วยผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก สเปกตรัม ให้รู้สึกปลอดภัยจากการสัมผัสที่เหมาะสม

ดร.สมพรอธิบายว่า สิ่งประดิษฐ์นี้ถูกออกแบบและพัฒนาโดย อเล็กเซีย ออเดรน ช่างไม้ครุภัณฑ์ชาวฝรั่งเศส และมีการพัฒนางานด้านเอไออีกมากมาย และหวังว่าจะเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกมุมมองหนึ่ง และได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึมที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและขยายผล ทั้งด้านงานวิจัย บทความ สื่อ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต่อไป

“การประชุมวิชาการเปิดโลกออทิสติก เป็นการเปิดโลกทัศน์อีกมุมมองหนึ่ง และได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึมที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและขยายผล ทั้งด้านงานวิจัย บทความ สื่อ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต่อไป” ดร.สมพรกล่าว

ด้านอาจารย์ปริศนา อานจำปา รอง ผอ.โรงเรียนสาธิต ฝ่ายการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า การประชุมวิชาการ เปิดโลกออทิสติก ครั้งที่ 14 ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร สหวิชาชีพ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบบองค์รวมในทุกมิติ เป็นเวทีในการนำเสนอนวัตกรรม ผลการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็น และแสดงความก้าวหน้าของงานวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนานวัตกรรม ผลงานวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานกิจกรรม ของภาคีเครือข่ายการดูแลบุคคลออทิสติก และยกย่องเชิดชูเกียรติ แก่บุคคล หน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น และทำคุณประโยชน์ด้านการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึมต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน