ภัยการเลี้ยงดู

เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ไอโออันนิส คัทซานโตนิส นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และ เจนนิเฟอร์ ไซย์มอนด์ส รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ร่วมทำวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบจากการเลี้ยงดูที่เข้มงวด โดยเก็บข้อมูลจากเด็กๆ ชาวไอริชกว่า 7,500 คน พบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยวิธีการที่ไม่เป็นมิตร ครอบคลุมการได้รับการปฏิบัติที่รุนแรงบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ

อาทิ การถูกพ่อแม่ตะคอกใส่เป็นประจำ การลงโทษด้วยการตี การแยกเด็กออกจากกันเมื่อประพฤติตัวไม่เหมาะสม หรือการใช้อารมณ์เวลาลงโทษ เมื่อเด็กกลุ่มนี้อายุครบ 3 ขวบมีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการทางสุขภาพจิตมากกว่าเด็กรุ่นเดียวกันถึง 1.5 เท่า หนำซ้ำหากได้รับการเลี้ยงดูด้วยวิธีเดิมๆ ที่ไม่เป็นมิตรอย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะทางจิตเมื่ออายุ 9-10 ขวบ

นักวิจัยจัดทำแผนผังอาการสุขภาพจิตของเด็กเมื่ออายุ 3 ขวบ 5 ขวบ และ 9 ขวบ โดยศึกษาทั้งอาการทางจิตที่เกิดขึ้นภายใน เช่น ความวิตกกังวลและการถอนตัวจากสังคม และอาการภายนอก เช่น ความหุนหันพลันแล่นและพฤติกรรมก้าวร้าว ปรากฏว่าเด็กประมาณร้อยละ 10 อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อสุขภาพจิตบกพร่อง ซึ่งเด็กๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบไม่เป็นมิตรมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกลุ่มดังกล่าว

“ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กๆ 1 ใน 10 คนอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่น่ากังวลและเราควรตระหนักว่าส่วนหนึ่งของการเลี้ยงดูอาจมีบทบาทต่อประเด็นนี้ เราไม่ได้เสนอแนะว่าพ่อแม่ไม่ควรกำหนดขอบเขตพฤติกรรมของลูก” แต่วัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้และการสร้างความทรงจำ หากเด็กได้รับการ กระทบกระเทือนทางจิตใจก็ย่อมไม่เป็นผลดีเมื่อเติบโตขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน