Tere (อ่านว่า เต๊ะร่า) สวัสดี..กรุงทาลลินน์ (Tallinn) เมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปเหนือและเมืองท่าหลักแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย ห่างจากกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของสาธารณรัฐฟินแลนด์ 80 กิโลเมตร

เช้าวันใหม่ที่เอสโตเนีย อากาศหนาวจัด ลมแรง เดินเท้าออกจากโรงแรมที่พัก ผ่านถนนหลัก ใจกลางเมือง การจราจรไม่แออัด วิ่งกันสบายตาม สัญญาณไฟ ไม่จอดติดยาวเป็นกิโล เพราะคน เอสโตเนียส่วนใหญ่นิยมใช้รถสาธารณะฟรี!!! (แบบตะโกน) ทั้งประเทศ

ด้วยความที่เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ พื้นที่ไม่มาก รัฐบาล จึงมีนโยบายให้บริการรถแทรม (Tram) หรือรถไฟฟ้ารางเบาที่วิ่ง ให้บริการรับ/ส่งประชาชนฟรี เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่แก้ปัญหาการจราจรติดขัด เพราะสามารถจูงใจให้คนมาใช้บริการรถสาธารณะแทนการขับรถยนต์ส่วนตัวได้ตรงจุด

รถแทรม คล้ายรถไฟฟ้าแต่สั้นกว่าและมีน้ำหนักเบา มีความผสมผสานระหว่างรถรางที่ต้องวิ่งบนเส้นทางรางเฉพาะ และรถไฟฟ้าที่มีระบบไฟฟ้าจากสายไฟด้านบน

เมื่อปีพ.ศ.2431 หรือราว 135 ปีก่อน ประเทศไทยเคยมีรถรางกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียด้วย เรียกว่าไทยเป็นผู้นำ ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยล้ำหน้ากว่าใครในสมัยนั้น แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การคมนาคมมีทางเลือกสะดวกสบายมากขึ้น รถรางในไทยจึงเสื่อมความนิยม และยกเลิกใช้ไปในที่สุดเมื่อปีพ.ศ.2511 หรือราว 55 ปีที่ผ่านมานี้เอง








Advertisement

ได้ข่าวว่า..ตอนนี้พี่ไทยกำลังลุกขึ้นมาปัดฝุ่นนำรถรางกลับมาใช้ใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำร่องในจังหวัดหัวเมืองใหญ่อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก ขอนแก่น และหาดใหญ่ จ.สงขลา..ใครอยู่แถวนั้นหรือผ่านไปผ่านมาฝากส่งข่าวกลับมาหน่อยว่าเป็นไงบ้าง

สำหรับคนต่างชาติผู้มาเยือนเอสโตเนียนั้น ต้องจ่ายตังค์ซื้อบัตรใช้บริการรถสาธารณะตามระเบียบ ส่วนค่าโดยสารจะเป็น เท่าไหร่นั้นต้องลองไปดูหน้างาน แต่เชื่อว่าจะตอบโจทย์เรื่องการอำนวยความสะดวกได้ อย่างมาก ไม่เสียชื่อ ‘เอสโตเนีย’ เจ้าแห่ง ‘e-Service’ แน่นอน

เพราะจุดเริ่มต้นในการสร้างชาติจากศูนย์ของเอสโตเนีย หลังประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเมื่อปีค.ศ.1991 ได้ก่อร่างสร้างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็น e-Estonia ตั้งแต่ปีค.ศ.1994 ที่มุ่งมั่นเป็น “เสือกระโดด” (Tiger Leap)

จนถึงวันนี้ราว 30 ปี เพียงชั่วครึ่งอายุคน เอสโตเนียกลายเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่ทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 99% ด้วยบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว แม้กระทั่งการเลือกตั้งยังสามารถทำผ่าน i-Voting

ทำให้ปัจจุบันเอสโตเนียพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาท/คน/ปี (เทียบกับไทยมี 270,000 บาท/คน/ปี) จากอดีตที่เอสโตเนียเคยเป็นประเทศยากจน มีรายได้ประชากร 86,000 บาท/คน/ปี (เทียบกับไทยมี 70,000 บาท/ คน/ปี)

ขาดธุรกรรมเพียง 1% ที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้คือ การ จดทะเบียนหย่า ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายเป็น e-Service 100% ในปีค.ศ.2024 เป็นคำตอบว่านวัตกรรมที่เอสโตเนียสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็น e-Government, e-Residency, e-Signature, e-Elections และ e-Taxes กำลังพัฒนาให้เป็น e-Everything ในเร็วๆ นี้

จากโรงแรมที่พัก เดินผ่านถนนใจกลางเมือง ลัดสวนสาธารณะ ไม่ไกลนักสัก 15-20 นาทีก็ถึงย่าน ‘เมืองเก่าทาลลินน์’ สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังอนุรักษ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อปีค.ศ.1997

เห็นหอคอยคู่ตั้งตระหง่านเป็นปราการใหญ่คือ ซุ้มประตู ‘วิรุเกตส์’ เหมือนเดินทะลุมิติสู่เมืองเก่ายุคกลาง ช่วงศตวรรษที่ 13-16

แต่ช้าก่อน!….ยังไม่ทันผ่านซุ้มประตูเมืองเก่า เหลือบซ้ายไปเห็นร้านดอกไม้นานาพรรณเรียงราย ชูช่อดอกอวดสีสันสดใสสะพรั่ง กลิ่นเกสรอ่อนๆ ฟุ้งจรุงใจและแปลกตาในเวลาเดียวกัน อย่างสีของกุหลาบฟ้า น้ำเงิน ม่วง และดำที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนต้องมนต์สะกดให้ตกอยู่ในภวังค์

จนได้ยินเสียงไกด์ตะโกนบอก “เดินตามมาค่ะ เดินตามมาก่อน” เฮ้อ! จบกัน..กำลังฝันหวาน

น่องตึงๆ ก้นหนักๆ เหมือนเดินขึ้นเนินเขา แนะนำให้ใส่รองเท้าผ้าใบไปเดิน เพราะพื้นถนนในเมืองโบราณยังอนุรักษ์การปูด้วย หินก้อนกรวดน้อยใหญ่ บิดเบี้ยว เรียงตัวคดเคี้ยว พาเราไปทุก ตรอกซอกซอยเหมือนเขาวงกต

สองข้างทางเป็นอาคารปลูกสร้างห้องเล็กๆ โทนสีพาสเทลดูอบอุ่นชวนฝัน ทั้งตกแต่งเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ร้านขายของที่ระลึก จะมองตรงไหนก็หวานละมุนจิต ละมุนใจไปทุกจุด

ถึงใจกลางเมืองเก่า ‘ศาลาว่าการเมืองทาลลินน์’ (Tallinn’s Town Hall) เคยจัดเฉลิมฉลองครบรอบ 600 ปี ไปเมื่อปีค.ศ.2004 เป็น ที่ตั้งของรัฐบาลท้องถิ่นในยุโรป กลิ่นอายสถาปัตยกรรมสไตล์โกธิกแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในยุโรปเหนือ

มี ‘จัตุรัสเมืองเก่า’ เป็นลานกว้างอยู่หน้าศาลาว่าการ ในอดีตเป็นสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า รวมถึงเป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ ทุกปียังคงใช้เป็นที่จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ อย่างคริสต์มาสและปีใหม่ จัตุรัสและตึกรามบ้านช่องจะถูกตกแต่งประดับไฟระยิบระยับสวยงาม มีแผงขายของกิน ของฝากที่ระลึกพื้นเมือง

ฝั่งตรงข้ามศาลาว่าการ มุมหนึ่งมี ‘โรงยา’ ร้านขายยาที่มีอายุเกือบ 600 ปี เก่าแก่ที่สุดในยุโรปที่ยังเปิดอยู่ มีทั้งยาแผนปัจจุบันให้บริการ และยาแผนโบราณในยุคกลาง ภายในร้านขายยามีอุปกรณ์และสิ่งของเกี่ยวกับการทำยาต่างๆ ส่วนหนึ่งจัดแสดงให้ชมภายในเหมือนพิพิธภัณฑ์

เดินลึกเข้าไป ‘มหาวิหารอเล็กซานเดอร์ เนฟสกี’ โบสถ์เก่า สไตล์รัสเซียที่มียอดโดมใหญ่ที่สุดในเมืองทาลลินน์ เป็นโบสถ์ คริสต์ออร์ทอดอกซ์ที่งดงามด้วยฝีมือช่างชาวรัสเซียและ Mikhail Preobrazhenski สถาปนิกผู้ออกแบบจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1900 ใช้เวลาสร้าง 6 ปีเต็ม เพื่ออุทิศให้ เจ้าชายอเล็ก ซานเดอร์ ยาโรสลาวิตซ์ เนฟสกี และเป็นสถานที่เก็บศพของนักรบ มีระฆังถึง 11 ใบ รวมถึงอันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมีน้ำหนัก 15 ตัน

ว่าจะเดินขึ้นไปให้ถึงจุดชมวิวเป็นจุดสูงสุดของเมืองเก่า แต่ข้าศึกโจมตีจนขนหัวลุก ต้องขอลี้ภัยเดินกลับก่อนคณะ ระหว่างทางมองหาห้องสุขายังไม่เห็น ขอแนะนำเป็นเกร็ดสำหรับนักเดินทางไว้เลยนะว่า ที่นี่ไม่มีห้องน้ำสาธารณะให้บริการเหมือนบ้านเรา เห็นจะมีอยู่ก็แต่ในร้านแมคโดนัลด์ก่อนทางเข้าซุ้มประตูเมืองเก่าโน่น และไม่ใช่ว่าจะเดินสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าห้องน้ำได้เลยซะเมื่อไหร่ เพราะต้องใส่รหัสปลดล็อกประตูก่อนเข้าห้องน้ำด้วย โดยรหัสจะอยู่ท้ายใบเสร็จเมื่อเราสั่งอาหารของทางร้านก่อนถึงจะเข้าห้องสุขาได้

โอ้ว! ไฮเทคซะไม่มี…ไม่มีที่จะปลดทุกข์ ถึงเวลาคับขันจริงอาจตายในหน้าที่ได้เลยนะเรา

ความสุขผ่านไปไว และยังมีเหตุระทึกให้รอดตายไปอีกวัน กลับถึงที่พักเปิดโปรแกรมดูงานล่วงหน้าแล้ว เหมือนต้องเตรียมตัวเดินทางย้ายเมือง จะเป็นยังไงบ้าง มาเอาใจช่วยกันด้วยนะทุกคน

พรพิมล แย้มประชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน