“ชีวิตของคนเราแต่ละคนแตกต่างกัน ยากดี มีจน ต่างก็ต้องดิ้นรนให้พ้นจากความทุกข์ และสุดท้ายของชีวิตก็ย่อมไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน” พระราชวิสุทธิเวที (นิกร มโนกโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ แสดงธรรมบรรยายในหัวข้อ “ชีวิตก็เท่านี้” บนเวที เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ โดยพุทธปัญญาชมรม บมจ.ซีพี ออลล์

พระราชวิสุทธิเวที เริ่มกล่าวว่า ชีวิตก็เท่านี้มันวัดเป็นอะไรได้บ้าง เป็นน้ำหนัก เป็นความยาว หรือเป็นอะไร วันนี้เรามาเรียนรู้เรื่องของชีวิต เพราะชีวิตนั้นมีความสำคัญ ชีวิตก็เท่านี้ มีความหมายอย่างไร นึกถึงกลอนบทหนึ่ง “อันชีวิตคนเราก็เท่านี้ จนหรือมีคนเราก็เท่านั้น วาสนาคนเราไม่เท่ากัน อันความตายเท่านั้นที่เท่าเทียม” กลอนบทนี้ให้อะไรเรา ให้ความรู้เราในเรื่องของชีวิตคนเรา มันเหมือนกันทุกอย่าง ไม่ว่ายากดีมีจน ท้ายที่สุดเท่าเทียมกันคือความตาย

อธิบายว่าแท้ที่จริง ชีวิตกับความตาย เป็นของคู่กัน ชีวิตคือการเป็นอยู่ การมีลมหายใจคือยังมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิตคือ มรณะ หรือความตาย เพราะฉะนั้นในชีวิตที่เรามีอยู่ หากเราใช้ชีวิตไปในแนวทางที่ถูกต้อง ชีวิตก็มีค่า ชีวิตก็มีประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตในทางที่ไม่ถูกต้อง ไร้คุณค่า ไร้ประโยชน์ ชีวิตก็สูญเปล่า การได้เรียนรู้จากชีวิต จะทำให้เรารู้จักบริหารชีวิตได้ถูกต้อง แทบจะเรียกว่าทั้งหมด ประสงค์ที่จะให้เรารู้จัก เข้าใจชีวิต เพื่อให้เราดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท

คำสอนบทหนึ่งที่เราได้ยินประจำ คือ ปัจฉิมโอวาท ที่ว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด” เป็นการเตือนชาวโลกให้รู้ว่าสังขารท้ายที่สุด ก็เสื่อมสลาย ย่อมแตกดับ เพราะฉะนั้น ต้องอย่าประมาท สรรพสิ่งอยู่แค่วิบัติ สรรพสัตว์อยู่แค่ตาย สูทั้งหลายอย่าประมาท พระพุทธเจ้าสอนเตือนสติเตือนใจให้รู้จักชีวิตว่าเราจะไม่ประมาท

ชีวิตเราก็เท่านี้ มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกัน ทุกคนล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า จุดหมายปลายทางของคนเราอยู่ที่ไหน สุขอยู่ที่ความพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง ด้วยยศ ด้วยตำแหน่ง แต่ปลายทางชีวิตที่แท้จริงคือ มรณะ ความตาย เราทุกคนเริ่มเดินทางแล้ว การเดินทางของเราคือการเดินทางชีวิต การเดินทางของเราเห็นอุปสรรค ปัญหาต่างๆ จะเดินทางไปไหนมีอุปสรรค เราสามารถระงับการเดินทาง ถนนไม่ดีเปลี่ยนเส้นทางได้ แต่ชีวิตคนเรา เกิดมาแล้ว หยุดไม่ได้ ต้องเดินทางตลอดไป นี่คือเรื่องชีวิตที่เราควรทำความรู้จัก

หากจะพูดถึงลักษณะของชีวิต ประเด็นหนึ่ง เพื่อให้รู้ความจริงของชีวิต อีกประเด็นหนึ่งคือ เพื่อให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องคือดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ความจริงของชีวิตที่ควรจะรู้ ควรกำหนด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ที่หลากหลายในหลักของอริยสัจ การเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ความชราก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความโศก ความพิลัยรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ การพบกันอยู่ร่วมกับคนที่ไม่ได้รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพราก จากสิ่งที่รักทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์ปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อแล้ว อุปาทาน หรือความยึดมั่นในขันธ์ห้า (ตัวเรา) ล้วนเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นชีวิตจึงประกอบไปด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นเรื่องความทุกข์ถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรกำหนดรู้

“วิธีปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์นั้นเป็นปริญญา ธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ เรื่องทุกข์เป็นเรื่องกำหนดรู้ เกิดแก่เจ็บตายพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ไปมีความรู้สึก ที่บอกว่าทุกข์สำหรับรู้ ไม่ใช่สำหรับเป็น” พระราชวิสุทธิเวที กล่าวทิ้งท้าย

พบกับกิจกรรมเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00-13.30 น. ผ่านช่องทาง facebook fanpage CPALL หรือสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน พร้อมรับฟังคติธรรมดีๆ ในช่องทาง TikTok ได้ที่ ธรรมะ TikTok

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน