‘สตอกโฮล์ม ซินโดรม’ ความสัมพันธ์เหยื่อกับผู้ร้าย

บุ๊กสโตร์

สํานักพิมพ์ sundogs ขอชวนทำความรู้จักกับ “อาการสตอกโฮล์ม ซินโดรม” ที่อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

หนังสือ “Need to Know รู้แล้วรู้รอด” โดย “ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์” ยกตัวอย่าง คดีดัง 2 คดีในสหรัฐอเมริกาที่เหยื่อเกิด ความรู้สึกผูกพันกับผู้ร้ายและเลือกที่จะ ไม่เอาผิดต่อการกระทำผิดอีกด้วย

คดีของคอลลีน สแตน (Colleen Stan) ที่ถูกลักพาตัวโดยคาเมรอน ฮูเกอร์ (Cameron Hooker) และเจนิส ฮูเกอร์ (Jenice Hooker) ขณะกำลังโบกรถ โดยถูกบังคับให้ซ่อนตัว อยู่ในกล่องไม้ใต้เตียง ถูกทารุณกรรม รวมไปถึงถูกบังคับข่มขืนใจนานอยู่ 7 ปี ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีหลายช่วงเวลาที่เธอสามารถหลบหนีหรือขอความช่วยเหลือได้ แต่กลับไม่เคยคิดที่จะหลบหนีแต่อย่างใด

คดีดังอีกหนึ่งคดีในสหรัฐอเมริกา ที่มีเหยื่อชื่อว่า แมรี แมกเอลรอย (Mary McElroy) เธอโดนลักพาตัวโดยชาย 4 คน และถูกนำตัวไปกักขังไว้ในที่แห่งหนึ่ง เธอโดนล่ามโซ่และเรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับการปล่อยตัวเมื่อเหล่าคนร้ายได้เงินตามที่เรียกร้อง อย่างไรก็ตาม เธอไม่เคยโกรธผู้ร้ายทั้ง 4 คนนี้เลย ยิ่งไปกว่านั้น ยังแก้ตัวและไปเยี่ยมพวกเขาอีกต่างหาก

ทั้งสองคดีต่างก็สะท้อนประเด็นน่าพิลึกที่ซับซ้อนที่มาพร้อมกับคำถามว่า เพราะเหตุใด เหยื่อจากทั้ง 2 คดีนี้ ถึงเกิดความผูกพันกับคนที่ทำร้ายทารุณกรรม

คำตอบของข้อสงสัยนี้มีชื่อเรียกว่า สตอกโฮล์ม ซินโดรม (Stockholm syndrome) ที่มาจากเหตุการณ์การปล้นธนาคารในเมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่เมื่อเวลาผ่านไป แต่เหยื่อกลับมีพฤติกรรมที่ให้ความร่วมมือกับคนร้ายมากกว่าตำรวจเสียอีก

ผู้ที่มีอาการสตอกโฮล์ม ซินโดรมนั้น จะต้องเป็นคนที่เจอประสบการณ์ที่ชวนตกใจอย่างไม่ทันตั้งตัวและถูกควบคุมอิสรภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำ การกิน หรือแม้กระทั่งการพูดที่จะต้องขออนุญาตก่อน ถึงจะทำสิ่งเหล่านี้ได้

จากนั้น การได้รับอนุญาตให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ จากการหยิบยื่นอาหารหรือเครื่องดื่ม จึงได้กลายเป็นความรู้สึกเชิงบวกต่อผู้ที่จับกุมตัวพวกเขาในเวลาต่อมา

สำหรับสังคมไทยมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมไทยมักมีการนำเสนอภาพของความรุนแรงผ่านสื่อมากมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดและยังคงปรากฏในปัจจุบันคงไม่พ้นสื่อโทรทัศน์หรือละคร ไม่ว่าจะเป็น ละครดังที่ถูกฉายซ้ำไปซ้ำมาอย่าง จำเลยรัก สวรรค์เบี่ยง เกมร้ายเกมรัก หรือแม้กระทั่งนางฟ้าอสูร ที่สามารถเรียกเรตติ้งได้มาก

ละครดังกล่าวล้วนมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ความสัมพันธ์ที่เกิดจากความไม่ยินยอม การลักพาตัว ไปจนถึงการขืนใจ หากแต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ เนื้อหาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเนื้อหาที่มีคนเสพและติดตาม อยู่เสมอ

หากลองพิจารณาดูดีๆ แล้ว สื่อที่มีเนื้อหาในลักษณะนี้ อาจถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการหล่อหลอมค่านิยม และแนวคิดให้คนในสังคมเคยชินกับความรุนแรง หรือ ทำให้คนในสังคมบางส่วนคิดว่าความรุนแรงนั้นแฝงความโรแมนติกอยู่ด้วยจนนำมาเชื่อมโยงกับตัวเองในชีวิตจริง จนทำให้สังคมเกิดความเคยชินกับภาพความรุนแรงเหล่านั้นอย่างไม่รู้ตัว

แต่มันปกติหรือที่เราจะจมอยู่กับการผลิตซ้ำความรุนแรงนี้ต่อไปและเคยชินกับมันไปเรื่อยๆ

หนังสือ Need to Know รู้แล้วรู้รอด ของ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ในบท ‘หลงคนร้าย’ ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า สังคมที่เต็มไปด้วยการควบคุมและการใช้กำลังนั้น ผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับการกระทำเหล่านี้จะถือเป็นหนึ่งในผู้มีอาการสตอกโฮล์มซินโดรมได้หรือไม่? หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่แค่การเล่าเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่ยังชักชวนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวที่อยู่ใกล้ตัวมาก แต่บางทีเรากลับไม่เคยนึกถึง และเพราะบางที อาการสตอกโฮล์ม ซินโดรมก็เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด

Need to Know รู้แล้วรู้รอด ผู้เขียน : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ สั่งซื้อออนไลน์ : http://bit.ly/413ihQz


กองเรือมหาสมบัติจักรพรรดิ
‘เจิ้งเหอ’แม่ทัพขันที‘ซำปอกง’

สํานักพิมพ์มติชน ชวนย้อนอดีตกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์เมื่อจีนขยายอำนาจ ท่องเรื่องราวของ ‘เจิ้งเหอ’ ตั้งแต่ถิ่นกำเนิดในคุนหมิง ระหกระเหินจากบ้านไปเป็นขันทีของว่าที่จักรพรรดิ ก่อนจะแสดงฝีมือและปัญญาเข้าตา จนได้เป็นแม่ทัพกองเรือมหาสมบัติ บุกเบิกการสำรวจทางทะเลของจีนในช่วงราชวงศ์หมิง

โดยการอุปถัมภ์ส่งเสริมจากจักรพรรดิหย่งเล่อ ผู้มองเห็นประโยชน์ทางการค้าทางทะเล ทั้งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม สู่การขยายพระราชอำนาจให้กว้างไกล ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงชายฝั่งแอฟริกา จวบจนสิ้นสุดแผนการสำรวจทางทะเล คงเหลือไว้เพียงบันทึกบอกเล่าเรื่องราวและมรดกทางวัฒนธรรมของความสัมพันธ์กับบ้านเมืองในอดีต จากการเดินเรืออันยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอแม่ทัพขันที “ซำปอกง”

เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” ผลงานของ ปริวัฒน์ จันทร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 นี้ ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาและภาพประกอบ 4 สี ใน 3 หัวข้อ เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่

ตามรอยเจิ้งเหอในนครนานกิง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญเกี่ยวกับชีวประวัติของเจิ้งเหอและกองเรือมหาสมบัติและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกถึง 3 แห่ง

หลวงพ่อโตซำปอกงและรูปเคารพ เจิ้งเหอในประเทศไทย ซึ่งค้นพบอยู่ในหลายจังหวัดที่น่าสนใจ และปมปริศนาการหายตัวไปของจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์หมิง

ภายในเล่มอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาเข้มข้นด้วยเรื่องราว 15 บท ดังต่อไปนี้

คุนหยาง ถิ่นกำเนิดเจิ้งเหอ

เจ้าชายหนุ่มกับขันทีน้อย

อุดมการณ์แห่งความขัดแย้ง 2,000 ปี

กองเรือมหาสมบัติอันเกรียงไกร

ปลายทางแรกมุ่งสู่…เมืองคาลิคัท

บทบาทของเจิ้งเหอกับอาณาจักรอยุธยา มะละกา และลังกา

ราชทูตแห่งองค์จักรพรรดิมังกร

การปรากฏกายของสัตว์เทพเจ้าในตำนาน

ปักกิ่ง มหานครแห่งความโอฬาร

เพลิงพิโรธที่พระราชวังต้องห้าม

สมุทรยาตราครั้งสุดท้าย

ความล่มสลายแห่งกองเรือมหาสมบัติ

มรดกวัฒนธรรมซำปอกง

ไขปริศนา “ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ” คือทายาทรุ่นใดของเจิ้งเหอ?

ตามรอยเจิ้งเหอในนครนานกิง

มาร่วมลงสู่กองเรือมหาสมบัติแห่งจักรพรรดิมังกร ท่องมหาสมุทรจากทะเลจีนใต้ถึงชายฝั่งแอฟริกา แผ่อำนาจทางการค้าและการเมืองอันยิ่งใหญ่ กับความสนุกของหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4) ได้แล้ว

หนา 424 หน้า ราคา 420 บาท

ทดลองอ่านได้ที่ : https://bit.ly/3qfW5Vu

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน