‘หนี้ครัวเรือน’ ยังคงเป็นโจทย์หินรัฐบาลชุดใหม่ ที่จำเป็นต้องเข้ามาเร่ง ‘ทุบ’ ให้แตก ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะวิ่งไปชน ‘ทางตัน’

จากการแถลงภาวะสังคมไทยล่าสุด ไตรมาส 1/2566 โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนเป็นเรื่องที่ยังมีความกังวล และเป็นระเบิดเวลา

แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมาแล้ว ยากที่จะทำให้ลดลงในเวลาอันสั้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาไทยประสบภาวะ โควิด-19 ด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งค่อนข้างสูง

จากข้อมูลล่าสุดไตรมาส 4/2565 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.9%

เมื่อแกะไส้ในจะพบว่า ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วน สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

“ในไตรมาส 4/2565 หนี้เสียยังทรงตัว แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระดับบุคคลและระดับธุรกิจเป็นไปได้ดี ซึ่งต้องดำเนิน ต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นความท้าทายของ ทุกรัฐบาล เป็นเรื่องที่น่ากังวลและจะเป็นระเบิดเวลาที่เกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป ต้องให้ความสำคัญและ เฝ้าระวัง เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาต่อเนื่องแต่หนี้ครัวเรือนก็ยังเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ ครัวเรือนจะเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโต เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องการใช้จ่าย”

นายดนุชากล่าวเสริมว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ เศรษฐกิจยังเดินไปได้แบบนี้ การจ้างงานยังเดินไปแบบนี้ ระเบิดเวลาก็ยังไม่ระเบิด แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัว เจอกับปัญหาให้หยุดชะงักก็มีความเสี่ยง ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูทั้งเรื่องของมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้

ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับตัวบุคคล ที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องกำลังการใช้จ่ายของตนเอง ถึงความเข้าใจในการซื้อสินค้า บางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อจัดการหนี้เดิมและ ไม่สร้างหนี้ใหม่ ขณะเดียวกัน เรื่องการตลาดของ ภาคธุรกิจ เช่น การผ่อน 0% ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงในช่วงที่ผ่านมาด้วย สถาบัน การเงินก็ไม่ควรออกแคมเปญในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดจนมากเกินไปซึ่งมีส่วนทำให้คนเสียวินัยการเงิน








Advertisement

ด้าน ธปท. โดย น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน มองแนวโน้มสถานการณ์สินเชื่อของไทยว่า ภาพรวมคุณภาพ สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2566 มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้

ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ Stage3) ณ ไตรมาส 1/2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4.98 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อ รวมที่ 2.68%

อย่างไรก็ดี สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในระบบสถาบันการเงินและนอนแบงก์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ปัจจุบันอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แม้ว่า ธปท.ไม่ถึงกับตกใจ แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้จับตา ดูตลอดและต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ทันก่อนที่ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสีย จึงมีมาตรการช่วยเหลือก่อนที่ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสีย

โดยสัดส่วนหนี้เสียค่อนข้างกระจายตัวในแต่ละ สินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งทีมเข้าไปคุยกับแบงก์และลูกหนี้ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยต้องบอกว่าการมีหนี้เสียในธุรกรรมสินเชื่อเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องทำคือการเข้าไปแก้ไขในภาวะที่ลูกหนี้มีการเสื่อมค่าลง

“แนวโน้มหนี้เสียนั้น มองว่าเราได้ผ่านช่วงที่หนักที่สุดของการไม่มีรายได้ของประชาชนมาแล้ว จากนโยบายของรัฐที่พยายามให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่ง ธปท.ไม่ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขหนี้เสียจะเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาได้พยายามดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อนและยังมีศักยภาพในการจ่ายหนี้ได้แต่ได้รับผลกระทบชั่วคราวอย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ ได้มีการขอให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือต่อไป แม้ว่ามาตรการที่ออกไปอาจจะช่วยไม่ได้ทุกคน แต่ก็ช่วยให้สัดส่วนหนี้เสียไม่ได้สูงขึ้น โดยลูกหนี้ภายใต้มาตรการลดน้อยลงมาก และหลังจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ก็เชื่อว่าลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ในปัจจุบันอยู่ที่ 86.9% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีการชะลอตัวลงจากสินเชื่อในกลุ่มรถยนต์ ส่วนสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยยังเติบโตในสัดส่วนที่เท่าเดิม ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็ยังขยายตัว สะท้อนว่าครัวเรือนยังต้องพึ่งพาสินเชื่อจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

แต่ในอนาคตคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะทยอยลดลง โดยยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม ซึ่งหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากกลุ่มรถ ส่วนบ้านยังโตในสัดส่วนที่เท่าเดิม บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังโต สะท้อนว่าครัวเรือนยังต้องพึ่งพาสินเชื่อจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ในอนาคตคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะทยอยลดลง

ขณะที่ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่น่าห่วงคือ หนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมาอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 4/2565 ที่ 5.2 แสนล้านบาท หรือ 3.9% ผลจากจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ เมื่อ ลูกหนี้กลับมาจ่ายปกติก็เริ่มมีปัญหามากขึ้น ทำให้วันนี้ หนี้หลายตัวมีปัญหา

ทั้งนี้ หากเจาะไปดูรายละเอียดพบว่า หนี้ที่กำลังมีปัญหาส่วนใหญ่มาจาก 3 ส่วนหลักคือ สินเชื่อบ้าน 1.6 แสนล้านบาท, สินเชื่อเช่าซื้อ 1.9 แสนล้านบาท, สินเชื่อส่วนบุคคล 1.6 แสนล้านบาท

ซึ่งหนี้ที่กำลังจะเสียในกลุ่มเช่าซื้อนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพักหนี้ไว้ ค่างวดไม่ต้องจ่าย พอหมดมาตรการก็ต้องกลับไปชำระเหมือนเดิม แต่ลูกหนี้ยังผ่อนไม่ไหว ก็ต้องค้างชำระมากขึ้น

“หนี้ที่กำลังจะเสีย 6 แสนล้านบาท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตกชั้นสูง และมีโอกาสไหลไปเป็นหนี้เสียได้สูงถึง 50% หรือ 3 แสนล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว กลุ่มเปราะบางยังอยู่ระดับสูง ดังนั้นโอกาสเห็นลูกหนี้ตกชั้นกว่าระดับปกติจึงมีมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้อาจซ้ำเติมหนี้เสียในระบบให้ปรับขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่หนี้เสียอยู่ในระบบแล้ว 9.5 แสนล้านบาท”

มองไปข้างหน้า หนี้ครัวเรือนยังคงกด ‘การบริโภคในประเทศ’ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเข็นให้เศรษฐกิจขยับขยายตัว ยิ่งเมื่อจับนโยบายของว่าที่รัฐบาลจากขั้วพรรคร่วม หลายเรื่องยังคงเกาไม่ถูกที่คัน ซึ่งถ้าเดินเกมพลาด ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่มหาศาล จะกลายเป็นปิดตา-เหยียบคันเร่งปัญหา ซึ่งไม่ใช่ผลดีนัก

นับเป็นการวัดฝีมือจากรัฐบาลที่มาจากความหวังของประชาชนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน