สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจี้ผลักดันยกร่างกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หวังช่วยนักลงทุนถูกหลอก พร้อม จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์” รับมือภัยในตลาดทุน

นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า สมาคมเดินหน้าให้ความรู้และผลักดันให้กฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยา ผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน โดยเตรียมจัดตั้ง ศูนย์ให้ ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มขึ้นมา และเพื่อให้นักลงทุนและประชาชนเข้าถึงในวงกว้างเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมได้จัดสัมมนาสัญจรร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปีนี้มีแผนจัดสัญจร 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น, เชียงใหม่ และสงขลา และทั้ง 3 จังหวัดมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เปิดสาขาเพื่อให้บริการกับนักลงทุน โดยจัดสัมมนาสัญจรครั้งแรก ในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้นำทางสังคม 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มทนายความ กลุ่มนักลงทุน กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครอง และกลุ่มสื่อมวลชน กว่า 100 คนเข้าร่วมสัมมนา

“หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2566 พบว่า มีการดำเนินการปรับทางแพ่ง รวมทั้งสิ้น 11 ราย 4 คดี มีมูลค่าปรับ ทางแพ่งรวมกว่า 84 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่มากกว่า ปี 2565 ที่มีมูลค่าปรับ 74.03 ล้านบาท ส่วนกรณีของ STARK ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ การที่ตลาดทุนไทยมีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มก็น่าจะเข้ามาดูแลนักลงทุนได้”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะ เข้าข่ายและใช้ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย 1.ผิดสัญญา 2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ

น.ส.พรนิภา สินโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติมถึงภัยตลาดเงิน ว่า พัฒนาการการชำระเงินทางออนไลน์ขยายตัวถึง 30-50% ในปีนี้ และจากข้อมูลที่แบงก์ชาติเก็บในเรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทาง Internet Banking หรือ Mobile Banking และทางพร้อมเพย์ที่มีบัญชี 140 ล้านบัญชี การเติบโตของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ มาพร้อมกับภัยทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ทั้งนี้ จากความร่วมมือกันของทุกหน่วยงาน การตั้งศูนย์รับเรื่องออนไลน์ การมีตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้สถิติการรับแจ้งออนไลน์ที่เคยสูงมากถึง 27,000 คดี ในเดือน ธ.ค. 2565 ลดลงมาเหลือ 20,000 คดี ในเดือนมี.ค.2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน