เป็นอีกครั้งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดประเด็นข้อกฎหมายจนนำมาสู่การถกเถียงอย้างกว้างขวาง ล่าสุด แจกแจงประเด็น “คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี” ท่ามกลางการจับจ้องของสังคมต่อการจัดตั้งรัฐบาล และการได้มาซึ่งนายกฯ คนที่ 30

โดยนายวิษณุเสนอไว้ 2 ประเด็น 1. กรณีแคนดิเดตนายกฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากถูกร้องว่ามีลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ จะนำรายชื่อดังกล่าวไปโหวตนายกฯ ไม่ได้

ระบุด้วยว่า การฟ้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 เป็นกระบวนการยุติธรรมปกติที่ใช้เวลานาน และไม่มีขั้นตอนสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ต่างจากการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งผู้ร้องได้คือ ส.ส.เข้าชื่อกัน 50 คน, ส.ว. 25 คน หรือ กกต.ยื่นเอง

2. การทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี นายวิษณุระบุการโปรดเกล้าฯ เป็นพระราชอำนาจ

แต่มีข้อปฏิบัติไม่ต่างจากการแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดี ที่มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวด ถ้ามีเรื่องถูกฟ้องร้องก็ให้กราบบังคมทูล ขึ้นไปด้วย

และหากมีอะไรเกิดขึ้นผู้รับผิดชอบคือประธานรัฐสภา ในฐานะผู้รับสนองพระราชโองการ เหมือนสมัยโหวต พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ เป็นนายกฯ แต่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ กลับเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน

นายวิษณุย้ำว่า “ประธานรัฐสภาต้องดูแลให้ถูกต้องให้ดี ถ้าจะเบรกอะไร ก็เบรกในชั้นประธานรัฐสภา”








Advertisement

มีเสียงแย้งทันทีจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่ในฐานะ “ผู้ถูกกล่าวหา”

นายพิธา ยกเคสการโหวตนายกฯ เมื่อ 5 มิ.ย. 2562 มีการเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้รัฐสภาโหวตได้ปกติ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

สำทับด้วยความเห็นจากอดีต กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ระบุ กรณี ส.ส.ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำให้สิทธิในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ หายไป เช่นเดียวกับเคสนายธนาธร

และยังเห็นว่า การร้อง ส.ส.ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 82 เป็นเรื่องของสภาใครสภามัน ไม่ใช่ ส.ว. 25 คนมาร้อง ส.ส.ขาดคุณสมบัติ ตามที่นายวิษณุอ้าง เพราะมาตรา 82 มีคำว่า “แห่งสภานั้น”

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ชี้เช่นกันว่า นายวิษณุเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนทั้งข้อเท็จจริงและ ข้อกฎหมาย ที่ระบุกรณีนายธนาธรโหวตนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นจดจำคลาดเคลื่อน

และหากศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นการหยุดหน้าที่ส.ส.แต่ยังคงความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ตามกฎหมาย เพราะเป็นคนละตำแหน่งและคนละกรณี

ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติส.ส. ตามมาตรา 82 ที่นายวิษณุเห็นว่าฝั่งส.ว. ยื่นร้อง ส.ส.ได้นั้น ก็เป็นความเข้าใจรัฐธรรมนูญผิดพลาดคลาดเคลื่อน

สำหรับการโปรดเกล้าฯ ที่นายวิษณุเตือนไปยังประธานสภา และพยายามอธิบายกระบวนการที่ทำกันมานั้น นายปดิพัทธ์มองต่างมุมว่า ตำแหน่งอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างคือข้าราชการประจำ ต่างจากนายกฯ ที่เป็นฝ่ายการเมือง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

ความเห็นแย้งเหล่านี้ ทำให้นายวิษณุชี้เแจงเพิ่มเติมโดยยอมรับข้อโต้แย้งถูกต้อง แต่ก็อยู่ที่ “คำร้อง” หากยื่นร้องเรื่องคุณสมบัตินายกฯด้วย และศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด การเสนอชื่อชิงนายกฯก็จะทำไม่ได้

และหากเสนอชื่อไปแล้วไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จะกระทบไปถึงการโปรดเกล้าฯ ครม.ที่นายกฯ ต้องรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น ประธานสภาต้องพิจารณาให้รอบคอบ คิดให้หนัก

แล้วเปิดประเด็นอีกว่า ส.ส. ส.ว.ที่ร่วมโหวตบุคคลที่ถูกยื่นร้องอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบทางการเมืองด้วย

ขณะที่ฝั่ง ส.ว.เอง ทั้ง นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และ สมชาย แสวงการ ยอมรับว่าตามมาตรา 82 ส.ว.ไม่สามารถร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ได้ แต่เป็นหน้าที่ของ กกต.ดำเนินการ

โดยที่ ส.ว.สมชาย ส่งสัญญาณถึง กกต.ว่าหากละเลย ไม่ดำเนินการอาจมีผู้ยื่นฟ้องเอาผิด กกต. ตามหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ส่วนนักวิชาการ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยันผลของศาลรับคำร้องคือหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้ห้ามการถูกเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

พร้อมยิงคำถามตรงไปยังนายวิษณุที่พูดทำทางไม่รู้เป็นเพราะไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลหรือมีเจตนาใด

โดยที่ นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ฟันธงว่า เป็นความพยายามสกัดไม่ให้นายพิธาเป็นนายกฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน