การประกาศรับรองส.ส.งวดเข้ามาทุกที ล่าสุด กกต.ขยับเตรียมประกาศรับรอง ส.ส. 21 มิ.ย.นี้ ประเด็นเสียงโหวตนายกฯ จึงได้รับความสนใจอีกครั้ง

แน่นอนพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดต นายกฯ จะหวังพึ่งสียงจาก ส.ว.คงลำบาก

ข้อเรียกร้องจากสังคมจึงโฟกัสไปที่ตัวช่วยจากพรรคฝั่งรัฐบาลเดิม โดยพุ่งเป้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์ลำดับแรก ในฐานะสถาบันการเมืองเก่าแก่และมีจุดยืนประชาธิปไตย

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้นายพิธาจะมีปัญหาเรื่องหุ้นไอทีวี แต่แคนดิเดตนายกฯ ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นส.ส. เพราะตำแหน่งนายกฯ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นส.ส. แต่ยอมรับว่าการตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก เพราะมีความพยายามสกัดกั้นนายพิธา เป็นนายกฯ

จึงเห็นว่า 1.เราต้องมีสปิริตประชาธิปไตย รู้แพ้ชนะ 2.ต้องยึดหลักเสียงข้างมากในสภาตามครรลองระบอบประชาธิปไตย 3.ในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ อยากเรียกร้องส.ส. และส.ว.สนับสนุนหลักการนี้ ถ้าพรรคก้าวไกลรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งและเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ ถ้าเราเคารพต่อหลักการประชาธิปไตย ไม่ควรมีวิกฤตทางการเมืองมาซ้ำเติมประชาชน

การดำเนินการขององค์กรอิสระควรเป็นอิสระ คำนึงถึงปัญหา วันข้างหน้าด้วย เพราะหากไม่ยึดมั่นหลักการนี้กังวลว่าจะเกิดวิกฤต สุดท้ายนำไปสู่การยึดอำนาจรัฐประหาร

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการตั้งรัฐบาลจะไม่สำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมโหวตเลือกนายพิธา หรือไม่นั้นตอบแทนพรรคไม่ได้ แต่พยายามเสนอแนวทางให้พรรครับทราบ จากการพูดคุย หลายกลุ่มในพรรคต่างเห็นพ้องกันว่าการตัดสินใจจะโหวตใครต้องเป็นมติพรรค จึงต้องรอกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก่อน

อย่างไรก็ตามการจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองต่อไปนั้น เชื่อโดยส่วนตัวว่าการแสดงจุดยืนตามแนวทางประชาธิปไตย สนับสนุนเสียงข้างมากและการแสดงสปิริตด้วยการโหวตให้คนที่รวมเสียงข้างมากในสภา จะทำให้พรรคได้รับความ เชื่อมั่นศรัทธาคืนมาได้

การจะรวบรวม 376 เสียง ส.ส.เสียงข้างน้อยควรช่วยกัน รวมทั้งประชาธิปัตย์เพื่อฝ่าด่านตรงนี้ เพื่อเดินหน้าการมีรัฐบาล ส่วนคดีความก็ว่ากันไป

พร้อมขอให้ 2 ฝ่าย ละเลิกเฟกนิวส์ การออกข่าวบิดเบือน การยัดเยียดข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม เคารพความเห็นแตกต่างและ ไม่ควรสร้างความเกลียดชังหรือปรักปรำโดยไม่มีหลักฐาน เช่น เรื่องหุ้น ซีไอเอมาแทรกแซง หรือฐานทัพอเมริกัน หรือการอิงสถาบันมากเกินไป

ส่วนเรื่อง 112 ก็ชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาล และการแก้ไขไม่มีทางได้ เพราะพรรคร่วมบางส่วน รวมทั้งพรรครัฐบาลเดิมก็ไม่เห็นด้วย ส.ว.จึงไม่ควรตระหนกเกินไป หรือนำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องการเมือง นายพิธาได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ มีสิทธิโดยชอบธรรม อย่าเปิดเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร

อลงกรณ์ พลบุตร สมบัติ ยะสินธุ์ ชัยชนะ เดชเดโช

 

นายชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาฯพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การโหวตนายกฯ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะอย่างไรต้องรอ มติพรรคว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวมองว่าการพิจารณาเลือกนายกฯ ต้องพิจารณาให้ครบทุกด้าน คือ 1.เรื่องความเหมาะสม เรื่องคุณสมบัติ 2.ไม่ใช่ดูคนที่มีคะแนนข้างมากอย่างเดียว และ 3.ต้องดูว่าคนที่นำพาประเทศมีนโนบายอย่างไร เช่น ถ้ามีนโยบายที่ไปแตะ หรือแก้ไขมาตรา 112 ตนไม่สนับสนุนอยู่แล้วไม่ว่าเป็นใคร

ส่วนที่มีการเรียกร้องให้พรรคอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลโหวตให้กับพรรคแกนนำเป็นนายกฯ เพื่อเป็นทางออกให้ประเทศนั้น โดยธรรมเนียมพรรคที่ไม่ร่วมรัฐบาลเขาไม่โหวตให้คนที่เป็นแคนดิเดดนายกฯ จากพรรคแกนนำอยู่แล้ว ส่วนสิทธิในการเรียกร้อง และข้อเรียกร้องก็ทำได้ แต่สิทธิในการโหวตเป็นสิทธิของ ส.ส. ดังนั้นการเรียกร้องก็เรียกร้องไป แต่กระบวนการและวิธีการเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ในสภา ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องรอมติพรรค

ด้าน นายสมบัติ ยะสินธุ์ ว่าที่ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าหากยังมีการแก้มาตรา 112 ตนก็ไม่โหวตให้ ประชาชนชอบและเขาได้เสียงข้างมากเราก็ยินดี แต่เมื่อไปแตะตรงนี้เราไม่เห็นด้วย ส่วนที่นายอลงกรณ์แสดงความเห็นให้มีสปิริตรู้แพ้ชนะ ยึดหลักเสียงข้างมาก ควรโหวตนายกฯให้พรรคเสียงข้างมากนั้น ตนว่าไม่เกี่ยวกัน และประชาธิปัตย์เราแสดงความคิดเห็นได้ทุกคนแต่สุดท้ายก็อยู่ที่มติพรรค

เมื่อก่อนพรรคอนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้านก็ไม่ได้ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขอถามตรงๆ กลับไปว่าฝ่ายค้านเคยยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะเลือกนายกฯอย่างเดียว บางเรื่องซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ฝ่ายค้านยังไม่ยกมือให้ และวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลซึ่งเป็นฝ่ายค้านก็ไม่เคยจะมายกมือให้รัฐบาล พอจะเป็นรัฐบาลก็มาเรียกร้องให้คนอื่นยอมรับเสียงประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน