ปมเดือด‘คลิปไอทีวี-โหวตนายก’

รายงานพิเศษ

การจัดตั้งรัฐบาลล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองกลับเข้าสู่โหมดร้อนระอุอีกครั้ง

อันเนื่องมาจากควันหลงหลัง กกต.สั่งตั้งกรรมการไต่สวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. เหตุรู้อยู่แล้วไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังลงสมัคร

เดือดขึ้นอีกเมื่อเกิดกรณีคลิปแฉการประชุมบอร์ดไอทีวี ที่ย้อนแย้งเอกสารการประชุมที่ตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้

และกรณีโหวตนายกฯ ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดประเด็น นำมาสู้ข้อถกเถียงวงกว้าง

โดยไทม์ไลน์สำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีดังนี้

10 มิถุนายน








Advertisement

พรรคก้าวไกลรุมจวกมติกกต. สั่งสอบนายพิธา ตามมาตรา 151

นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่าเป็นการชี้ให้เห็นถึงกระบวนการเตะตัดขานายพิธา และพรรคก้าวไกล

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ บอกเป็นการทำนิติสงครามของ ‘องค์กรนั่งร้าน’

นายชำนาญ จันทร์เรือง กก.บห.คณะก้าวหน้า มองว่าการฟ้องตาม มาตรา 151 อีกนานเพราะ เข้าสู่ระบบศาลยุติธรรม ต้องผ่านอัยการ และอีก 3 ชั้นศาล

นายเชาวน์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุความผิด มาตรา 151 ต้องมีหลักฐานนำสืบจนสิ้นข้อสงสัย อย่างไรนายพิธาก็รอด

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ห่วงว่าการต่อสู้คดียาวนานแต่โทษหนัก และเกรงส.ว.จะใช้เป็นข้ออ้างไม่โหวตให้นายพิธา โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ

ส.ว.มองการฟ้อง มาตรา 151 ไม่มีผลกับการโหวตนายกฯ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ระบุไม่เกี่ยวอะไรกับการโหวตนายกฯ และจุดยืนของตัวเอง

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. แนะกกต. 5 ขั้นตอนเชือดนายพิธา ให้รับรองเป็นส.ส.ไปก่อน แล้วไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนร้องคดีอาญา

11 มิถุนายน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ในฐานะ นายทะเบียนพรรคการเมือง สั่งยุติ 4 คำร้องยื่นยุบ พรรคก้าวไกล เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล ทั้งข้อกล่าวหา มีนโยบายยกเลิก มาตรา 112, หาเสียงพาดพิงสถาบัน และกรณียินยอมให้ครอบงำ ชี้นำพรรค

แต่ยังคงมีคดียุบพรรคการเมืองอยู่ในมือกกต.อีก 5-6 เรื่อง

12 มิถุนายน

พรรคก้าวไกลแถลงชี้พิรุธการฟื้นคืนชีพไอทีวี เพื่อ สกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากกลางดึก 11 มิ.ย. รายการข่าว 3 มิติ และ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เปิดคลิปประชุมบอร์ดไอทีวี นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุมตอบชัดบริษัทไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ ซึ่งไม่ตรงกับบันทึกประชุมที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

นายคิมห์ ผู้บริหาร บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ที่ถือหุ้นใหญ่ไอทีวี สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์สั่งสอบตัวเองเพื่อซื้อเวลา

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อ้างคลิปและรายงานการประชุมที่เนื้อหาขัดแย้งกันไม่ใช่สาระสำคัญ ที่สำคัญคือถือหุ้นสื่อหรือไม่ ยันการยื่นร้องทำคนเดียว ไม่มีเบื้องหลัง

‘ทนายอั๋น’ ภัทรพงศ์ ศุภักษร ยื่นกกต. ให้สอบ นายเรืองไกร ร้องเท็จปมหุ้นสื่อ

ป.ป.ช.แจ้งการยื่นบัญชีทรัพย์สินของอดีตส.ส.มี 100 กว่ารายขอขยายเวลา ซึ่งจะครบกำหนด 18 มิ.ย.นี้ รวมถึงนายพิธา

คณะประชาชนคนรักในหลวง นำมวลชนเสื้อเหลือง บุกรัฐสภา ยื่นสนับสนุนส.ว. ไม่โหวตให้นายพิธา

สมช. ยอมรับฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือชุมนุมกดดันส.ว. ในการโหวตนายกฯ

สมช.-ฝ่ายความมั่นคงถกปมกิจกรรม ‘แยกดินแดน’ สั่งฝ่ายกฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำผิด ฟันธงมีพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง

13 มิถุนายน

นายวิษณุออกโรงเตือนทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ ที่ถูก ฟ้องร้อง ประธานรัฐสภาต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น หากเบรกอะไรได้ก็ต้องเบรกในชั้นนี้

และว่าการโหวตนายกฯ ที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จะทำไม่ได้ และการฟ้องตามมาตรา 151 ไม่มีขั้นตอนสั่ง หยุดพักหน้าที่

ต่างจากการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 82 ซึ่งทั้งส.ส.และส.ว. สามารถเข้าชื่อยื่นไ ด้ รวมถึงกกต.อาจยื่นเอง จนนำมาสู่ข้อโต้แย้งมากมาย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ยกกรณีโหวตนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นแย้ง และเห็นว่าการยื่นตามมาตรา 82 ส.ว.จะไปยื่นให้ตรวจสอบส.ส.ไม่ได้ เป็นเรื่องของแต่ละสภาตรวจสอบกันเอง

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุผลของศาลรับคำร้องคือหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้ห้ามการถูกเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

ขณะที่ นายพิธายกเคสการโหวตนายธนาธรโต้เช่นกัน พร้อมชี้แจงกรณีคลิปไอทีวีและกรณีกกต.สั่งไต่สวน มาตรา 151 เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่ามีขบวนการสกัดตนเองเช่นเดียวกับนายธนาธร

แต่ยืนยันมีหลักฐานพร้อมสู้ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการโหวตตัวเองเป็นนายกฯ

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานกกต. เผยแพร่ข้อกฎหมายชี้โทษรู้อยู่แล้วไม่มีสิทธิ์สมัครส.ส. แต่ลงสมัคร

นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ เข้าแจ้งความต่อสน.ทุ่งสองห้องเอาผิด นายคิมห์ และนายเรืองไกร ฐานแจ้งความเท็จ กรณีคลิปและบันทึกการประชุมบอร์ด ไอทีวีขัดแย้งกัน

14 มิถุนายน

เอกสารหลุด ภายหลัง กกต.พิจารณาวาระรับรองส.ส.นัดแรก โดยเป็นเอกสารที่สำนักงานกกต.ได้เสนอข้อมูลว่ามี 329 ว่าที่ส.ส.ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน ขณะที่มี 71 ว่าที่ส.ส.ถูกร้องคัดค้าน จาก 8 พรรค

ไอลอว์, เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การ เลือกตั้ง และกลุ่มทะลุฟ้า บุกสำนักงานกกต. ให้เร่งประกาศรับรองผลเลือกตั้ง

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า โพสต์ข้อสังเกตการทำงานของกกต. กรณีนายเรืองไกรยื่นคำร้องหุ้นสื่อ 10 พ.ค. 66 ก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 แต่ กกต.มายกคำร้อง 6 มิ.ย. เพราะยื่นร้องช้ากว่ากฎหมายกำหนด ผิดกับกรณียิงเลเซอร์สะพานพระราม 8 ของพรรค รวมไทยสร้างชาติ กกต.รีบบอกทันทีไม่ผิดกฎหมาย

นายพิธา เดินสายขอบคุณชาวลำปาง, ลำพูน โดยยังคงมีแฟนคลับแห่ต้อนรับหนาแน่น ขึ้นปราศรัยแฉแผนผู้มีอำนาจทำให้การเมืองสกปรกที่สุด เพื่อให้คนเบื่อการเมือง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยืนยันไม่มีการพลิกขั้ว ตั้งรัฐบาล

15 มิถุนายน

กกต.เล็งประกาศรับรองส.ส. 21 มิ.ย. ขณะที่นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. สั่งตรวจสอบกรณีเอกสารหลุด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีว่าที่ส.ส.ถูกร้องเรียนมากที่สุด 21 คน ยืนยันพร้อมช่วยลูกพรรคสู้คดี

นายพิธา ลงพื้นที่ขอบคุณชาวเชียงใหม่ พบสภาชนเผ่าพื้นเมือง หารือภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ยืนยันไม่ปลุกมวลชนเป็นเกราะกำบัง

ไอทีวีออกแถลงการณ์ชี้แจง บันทึกการประชุม ไม่ได้เน้นคำต่อคำ ในบันทึกไม่ได้ต้องการสื่อว่ายังประกอบกิจการสื่ออยู่

นายสมชาย แสวงการ และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ยอมรับ การยื่นร้องตามมาตรา 82 เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภายื่นแยกกัน ส.ว.จะไปยื่นตรวจสอบคุณสมบัติส.ส.ไม่ได้ แต่แนะนำให้ กกต.ยื่นเอง

16 มิถุนายน

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์กรณีไอทีวีชี้แจงเท่ากับเอกสารที่นายเรืองไกรยื่นร้องทั้งแบบส่งงบ ส.บช.3 ที่ระบุประเภทสื่อโฆษณา, บันทึกการประชุม รวมทั้งร่างงบการเงินน่าจะใช้ไม่ได้ กกต.ไม่ควรนำพิจารณา

พร้อมเปิดเอกสารงบไตรมาส 1 บมจ.อินทัช บริษัทแม่ของไอทีวีที่ยื่นก.ล.ต. ชี้ชัดสถานะของไอทีวีหยุดดำเนินกิจการ 31 มี.ค. 66

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน