ฟังเสียงสะท้อนภาคเอกชน
ไหว-ไม่ไหวกระชากค่าแรง450บาท

รายงานพิเศษ

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน มิหนำซ้ำค่าต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นต้นทุนทำให้ราคาสินค้าขึ้นเอาๆ เป็นว่าเล่น เป็นเหตุให้เงินเฟ้อปรับขึ้นไปแซงรายได้จนชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะค่าจ้าง/เงินเดือนไม่ขยับสักที

ไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาเป็นรัฐบาล คนหาเช้ากินค่ำก็มีความหวังอยากจะเห็นค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น ตามที่ทุกพรรค..ย้ำว่าทุกพรรค! ได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ลองฟังทัศนะจากนายจ้างกันดู

เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน โดยไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสม อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธาน กกร. ระบุว่า ที่ประชุมมีความกังวลแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าประกอบกับราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นสัดส่วนค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นกว่าในอดีต อาจกระทบเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเช่นกัน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน ภายใน 100 วันของพรรค ก้าวไกลแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ต้องดูข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบก่อน

รวมทั้งต้องการหารือกับข้าราชการประจำถึงความเหมาะสม พร้อมเปิดรับฟังความเห็นกลุ่มนายจ้างและลูกจ้าง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากที่มีลูกจ้าง และไม่สามารถแบกรับภาระในส่วนนี้ได้ เช่น ภาคท่องเที่ยว บริการ และภาคเกษตร








Advertisement

“เรื่องนี้นายจ้างไม่คัดค้าน แต่การปรับขึ้นตามใจนโยบายที่หาเสียง มีความเสี่ยงอาจกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจากทั่วโลก อาจย้ายฐานการผลิต และกระทบภาคการผลิตของนักลงทุนไทยในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น อยากให้ภาคการเมืองรับฟังภาคเอกชนให้ทั่วถึงด้วย” นายพจน์กล่าว

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้ความเห็นว่า สภาไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากแต่ต้องทำแบบมีขั้นตอนและรอบคอบ ไม่มองข้ามเรื่องการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพราะหากขึ้นแบบกระชากไปสู่ระดับ 450 บาท/วันทันที จะเกิดภาพซ้ำรอยอดีตในการขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศเมื่อปี 2556

ผลคือ เกิดการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่อย่างเวียดนาม และการลงทุนใหม่ที่เน้นการใช้แรงงานจะไม่เกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท

“อย่าลืมว่าอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต เรายังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค ห้องแถวที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อกีฬาแบรนด์ดังๆ จะหายไปหมดซ้ำรอยอดีต และต้องไม่ลืมอีกข้อว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของค่าแรงแรกเข้า แต่ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ได้รับเกิน 450 บาท/วันอยู่แล้ว เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม จะทำให้ค่าแรงงานกลุ่มนี้ต้องปรับขึ้นด้วย” นายธนิตกล่าว

ที่สำคัญอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นเอสเอ็มอีคงรับไม่ไหว แม้รัฐบาลจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่คิดว่าไม่น่าจะใช่คำตอบ เพราะหากธุรกิจมีกำไรก็ควรจะเก็บภาษี แต่ทุกวันนี้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะขาดทุน เมื่อมีการขึ้นค่าแรงเท่ากับเพิ่มต้นทุน เอสเอ็มอีก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น สุดท้ายค่าแรงจะขึ้นไปเป็นทอดๆ สะท้อนกลับไปยังราคาสินค้า ประชาชนก็เดือดร้อนเช่นกัน

บทเรียนจากการขึ้นค่าแรงของไทยที่ผ่านมา กลายต้นทุนเพิ่มขึ้นบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลง จากที่ไทยเคยเป็นผู้นำการส่งออกในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่ลดลงในปัจจุบัน เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ทั้งที่ไทยยังต้องพึ่งพาการ ส่งออกสูง นี่คือเหตุผลว่าทำไมอัตราการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของไทยในระยะ 10 ปีจึงตกต่ำลง

เสียงจากผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่าง นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ก็ยอมรับว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที จะกระทบต่อราคาที่อยู่อาศัยทันทีเช่นกัน และที่น่าห่วงกว่าคือ จะกระทบต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการได้มีการขายไปแล้ว แต่ยังสร้างไม่เสร็จ

“ผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้ จะมีภาระต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งจะแบกภาระไหวหรือไม่ในสภาวะที่การเงินตึงตัวอยู่ในขณะนี้ สุดท้ายจะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น รัฐบาลจะสามารถมีมาตรการรองรับหรือมี งบประมาณมาสนับสนุนตรงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้หรือไม่” นายพรนริศกล่าว

นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ ระบุว่า แม้ส่วนตัวจะเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมองว่าสอดคล้องและเหมาะกับค่าครองชีพของประชาชนที่เป็นอยู่ แต่ในฟากของผู้บริโภคคงหนีไม่พ้นผลกระทบที่มีต่อราคาบ้านหลังใหม่จะปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านจะปรับขึ้น 15-17% ยกเว้นรัฐบาลมีมาตรการออกมาชดเชย และผู้ประกอบการจะช่วยรับภาระไว้ส่วนหนึ่งก็จะไม่ทำให้ราคาบ้านสูงขึ้นมากเกินไป แต่ยังไงราคาบ้านก็ยังคงปรับสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 7-8% สำหรับผู้บริโภคที่ตัดสินใจสร้างบ้านภายหลังต้นทุนค่าแรงใหม่ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่” นายพิศาลกล่าว

นายปสันน สวัสดิ์บุรี รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ (มหาชน) ยอมรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบต้นทุนค่าก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 2% ซึ่งส่วนตัวมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงควร เป็นไปตามกลไก แต่หากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบาย ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการก็จะช่วยลด ผลกระทบลงได้

ด้าน นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) ประสานเสียงยอมรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท จะเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนให้สูงยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการใช้แรงงานจำนวนมาก ซ้ำเติมผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

นายวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความจริงค่าแรงต้องปรับขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพียงแต่จะเร็วหรือช้า ซึ่งโครงสร้างต้นทุนของร้านอาหารในไทยหลักๆ คือ ค่าวัตถุดิบมีสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาคือค่าแรง และสุดท้ายคือค่าเช่าซึ่งรวมค่าน้ำค่าไฟ

ดังนั้นหากต้นทุนทุกตัวที่ปรับขึ้น โดยที่บริษัทไม่สามารถปรับลดต้นทุนส่วนใดลงได้แล้ว ก็จะกระทบราคาสินค้า แต่ทั้งนี้ ด้วยธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงเลือกการปรับขึ้นราคาขายเป็นเรื่องสุดท้าย และคงต้องรอดูด้วยว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการอะไรมารองรับผลกระทบ

ฟังเสียงสะท้อนจากนายจ้างแล้ว ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ หากฝืนปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปแบบไม่สมเหตุ สมผล อาจกลายเป็นดาบสองคมกดดันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ไม่เพียงทำให้นักลงทุนหนีหาย แต่สุดท้ายจะตกเป็นภาระค่าครองชีพกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามไปด้วยเป็นวัฏจักร

แต่สุดท้ายแล้วเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย หรือคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ

ที่จะร่วมกันตัดสินใจว่าจะขึ้นค่าแรงได้เท่าไหร่!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน