ท่ามกลางด่านหินหลายชั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณสมบัติ การถือหุ้นไอทีวี การไต่สวนตามมาตรา 151 จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือการฝ่าด่านโหวตนายกฯ ของส.ว.

จึงถูกมองว่า มีขบวนการสกัดกั้นไม่ให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เป็นนายกฯ

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด แกนนำภาคประชาชน สะท้อนมุมมองว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงลุ้นจัดตั้งรัฐบาล เราได้เห็นกระบวนการร้องเรียน ขัดแข้งขัดขา คิดว่ากระบวนการเหล่านั้น ทำไปบนพื้นฐานที่อยากจะทดสอบพลังของประชาชน ว่าเขาจะชี้นำหรือใช้เครื่องมือเดิมในอดีตมาจัดการฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามหรือไม่

เชื่อว่ามีขบวนการสกัดกั้นนายพิธา เป็นนายกฯ ซึ่งนโยบายและแนวทางการเมืองของก้าวไกล ค่อนข้างมีความท้าทายต่อระบบหรือวัฒนธรรมหรือกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม ทั้งเอกชน ทุน ระบบราชการหรือทหาร ไม่เช่นนั้นการจัดทำรายงานของไอทีวี ไม่ออกมาในลักษณะที่ขัดกับข้อเท็จจริงแบบนี้ เป็นเหตุให้จับผิด รวมถึงตัวละครที่ถูกโยงใยและเปิดภาพออกมาแล้วมีความเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

คิดว่าสังคมเชื่อไปแล้วว่า สิ่งเหล่านี้เป็นขบวนการเพื่อสกัดรัฐบาลก้าวไกล ทั้งหุ้นไอทีวีและส.ว. รวมถึงมีคนที่มีชื่อเสียงและมุมมองที่ แตกต่าง ยังกระพือข่าวเรื่องอเมริกา มากันเป็นแผงเลยแล้วเจาะเข้าไป ซึ่งเป็นคนที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ประเทศต้องเดินด้วยหลักประชาธิปไตย เราต้องยึดถือให้มั่น

คาดหวังว่าส.ว.จำนวนหนึ่งจะมีวุฒิภาวะ แม้จะมาจากคสช.ก็ตาม ซึ่งเขาอาจไม่ได้เลือกนายพิธา แต่การเคารพเสียงประชาชนนั้นสูงกว่า การฝืนมติประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ถ้าใครพยายามทำให้ฉันทามติของประชาชนบิดเบี้ยว ทำให้ฉันทามตินี้ไม่เกิดผล ถือเป็นการท้าทายอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ กระแสสูงมาก ไม่ใช่การเบื่อการเมืองแบบไม่แอ๊กทีฟ แค่เบื่อที่จะฟัง ไม่ตามข่าว แต่ถึงเวลาผู้คนเหล่านี้จะแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน

ประเทศนี้เวลาคนลงถนน อีกฝ่ายจะใช้เทคนิค ใช้วิธีการลดทอนว่าลงถนนดีหรือไม่ เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายยึดอำนาจหรือเปล่า คนเลยไม่กล้าลงถนน เราจึงต้องระวัง และมีวิธีการที่แพรวพราวกว่านี้ มีวิธีต่อสู้ที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพ ให้มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ออกมาให้เยอะแล้วก็กลับ ทำแบบที่ฮ่องกง ออกมาทุกเย็นแล้วก็กลับ ประกาศให้ชัดเจนตรงไหนอย่างไร ทำให้เห็นว่ารูปแบบการประท้วงขยายตัวไปเรื่อยๆ อย่าให้การประท้วงนั้นไปสร้างความชอบธรรมให้อีกฝั่งหนึ่ง เราสามารถประท้วงบนถนนโดยยังอยู่บนความชอบธรรมได้

ฝากถึงผู้มีอำนาจว่าต้องรู้แพ้รู้ชนะ และขอย้ำถึงประชาชนทุกคนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของเรา

นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า หากรัฐบาลประชาธิปไตยไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ ถ้ามีการขับเคลื่อนของประชาชน คิดว่าคนเสื้อแดง ออกมาร่วม เพียงแต่อาจไม่ใช่กองหน้า แต่เป็นกองหนุนที่ไว้ใจได้ ไม่รู้ว่าใครจะออกมาลุกขึ้นนำ แต่แม้ไม่มีการนำของแกนนำ เชื่อว่าออกมาครั้งนี้มีความชอบธรรมเรื่องผลการเลือกตั้งที่ออกมาราว 70% อนุรักษนิยม 20% สมัยก่อนกว่า 40% แม้กระทั่งตอนปี 2562 ยังใกล้เคียงกัน แต่เที่ยวนี้ห่างชัด ฉะนั้นเป็นความเสี่ยงของฝั่งอนุรักษนิยมในการมาจัดการกับประชาชน ถ้าเขาต้องการมาจัดการ ต้องทำแบบพม่า คุณพร้อมจะเสียต้นทุนแบบนั้นไหม

ขบวนการเสื้อแดงตั้งแต่ต้นมาถึงปัจจุบัน เราพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ใช้กำลังอาวุธจริง ไม่ว่าจะใส่ความแบบไหน มีความอดทน รอคอยได้ เวลาเป็นของประชาชน ไม่มีคำว่า การต่อสู้ครั้งสุดท้าย เพราะต้องสู้ไปเรื่อยๆ เพียงแต่ถ้าเราทำการเมืองให้เป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ ประชาชนจะไปต่อสู้เรื่องเศรษฐกิจ อาชีพ และเรื่องอื่นๆ ไป แบบในยุโรป

ในฝ่ายเดียวกันต้องผนึกกำลังให้เข้มแข็ง ไม่ให้ใครมาล้วง ดึงไป ถ้าพังจะพังด้วยกันทั้งหมด เชื่อว่าคน 70% ไม่ยอม และคนอายุต่ำกว่า 18 ยิ่งแรง วัดใจกันว่าจะไปถึงไหน เรารู้ฝั่งเรา แต่ไม่รู้ฝั่งเขา

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย อดีตแกนนำนปช. กล่าวว่า คิดว่า คนเสื้อแดงแม่นยำในเป้าหมายของสถานการณ์นี้ว่าต้องเอาอำนาจรัฐออกจากมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกให้ได้ นั่นหมายความว่า ต้องมีรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะกติกา ถูกเขียนและล็อกไว้เช่นนี้ ตราบเท่าที่ไม่มีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลเก่าก็ไม่ไป

สภาพที่เป็นอยู่คือ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็นนายกฯ และใช้อำนาจได้เต็มมือผมฟันธง ภายในเดือนส.ค. ถ้าตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ได้ เราจะเห็นรัฐบาลประยุทธ์ตั้ง ผบ.ทบ. คนใหม่ ตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการต่างๆ นานาสารพัด เพราะนี่คือสิ่งที่เขาเชื่อว่าเขาทำได้ และอ้างความชอบธรรมตามตัวบทกฎหมายที่เขียนขึ้นเอง

ดังนั้นจะมีการออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวหรือไม่ มันอาจจะมี แต่ หลักคิดคือ ต้องเอาอำนาจรัฐออกจากมือพล.อ.ประยุทธ์เสียก่อน 8 พรรคต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ เอานายพิธา เป็นนายกฯ

ถ้า ส.ว.ไม่โหวตให้ คะแนนเสียงไม่พอ ข้อเรียกร้อง การกดดันทางสังคมอาจจะออกมาในรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน