พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดศึกชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่หลังจับมือร่วมตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมือง

ทางพรรคก้าวไกลยืนยันแข็งขันว่าต้องการตำแหน่งนี้ เพื่อผลักดันกฎหมายและวาระต่างๆ ที่ใช้หาเสียงมาตลอด พร้อมอ้างว่าเป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจะได้เป็นประธานสภา

พรรคเพื่อไทยก็เสียงแข็งว่า เมื่อพรรคอันดับหนึ่งได้เก้าอี้ ‘ประมุขฝ่ายบริหาร’ ไปแล้ว ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ ต้องเป็นของพรรคอันดับสอง เพื่อสร้างความสมดุลในพรรคร่วมรัฐบาลจะกินรวบทั้งสองประมุขไม่ได้

17 มิ.ย. นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกลยังยืนกรานเก้าอี้ประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกล เพื่อขับเคลื่อนงานในสภา

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สอนมารยาทนายรังสิมันต์ อย่าพูดก่อนเพราะไม่ใช่ฝ่ายเจรจา รอให้คนที่มีหน้าที่ในการหารือจริงๆ ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน และตอนนี้พรรคเพื่อไทยรอคำตอบอยู่

18 มิ.ย. นายภูมิธรรมออกมาเปิดเผยว่า เพื่อให้ได้ข้อยุติและไม่เกิดปัญหากับทั้งสองพรรค พรรคเพื่อไทยจึงมีข้อสรุปว่าให้พรรคอันดับ 1 ทำหน้าที่ประธานสภา ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาทั้ง 2 คน ควรเป็นของพรรคลำดับ 2 เพราะมีจำนวนเสียงใกล้เคียงกันมาก

สำทับด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่เป็นคณะเจรจา ขอให้ยึดหลักการจุดนี้ไว้ มิเช่นนั้นกองเชียร์ 2 ฝ่าย จะถกเถียงกันไม่หยุด

แต่สถานการณ์ไม่จบเมื่อ นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกาศกร้าวเรื่องนี้ควรเป็นทฤษฎี “กินแบ่ง” ไม่ใช่ “กินรวบ” ถ้าอยากกินรวบต้องได้เสียงขาดลอย 376 เสียง แต่สูงแค่ 151 แล้วจะเป็นทั้งประมุขฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเพ้อฝัน








Advertisement

“วันที่ 21 มิ.ย. ผมจะนำเรื่องนี้ไปสอบถามต่อที่ประชุมส.ส.ของพรรคว่าเหตุใดไม่แจ้งให้สมาชิกทราบ จะไปตัดสินใจโดยความเห็นของแกนนำเพียง 1-2 คนไม่ได้ ผมก็เป็นผู้ใหญ่ในพรรค แต่ไม่รู้เรื่องนี้”

โด่ง-นายอรรถชัย อนันตเมฆ อดีตดารานักแสดง คนเสื้อแดง และกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า..

อย่าเพิ่ง..โกรธไปครับ เรื่องประธานสภา ดูให้จบก่อน และยัง ตอบกลับคอมเมนต์ที่เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก อาทิ “ได้นายกฯ ต้องยกประธานให้เพื่อไทย แต่ถ้าได้ประธาน ก็ต้องถอยนายกฯ”

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ยอมถอย ทำให้การทำงาน ร่วมกันดีขึ้น และจะเข้าพูดคุยกับแกนนำของพรรคเพื่อไทยในสัปดาห์นี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าการที่พรรคเพื่อไทยให้ตำแหน่งประธานสภากับพรรคก้าวไกล อาจมองข้ามช็อตไปถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ชวดตำแหน่งนายกฯ นายชัยธวัชยืนยันว่ายังไม่คิดไปไกล ตอนนี้เดินหน้าจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ให้นายพิธาได้เป็นนายกฯ

เมื่อตัวเลขส.ส.ของแต่ละพรรคชัดเจน แกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะประชุมและแถลงข้อยุติเรื่องนี้ภายในสัปดาห์นี้

สำหรับประธานสภาจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง คุณสมบัตินอกจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ต้องเป็นที่ยอมรับด้วย

นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาระบุว่า ตามข้อกำหนดประธานสภาต้องเป็นกลาง สมมติเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ต้องลาออก เพราะต้องการประธานที่เป็นกลาง ต้องเข้าใจกฎหมาย จะไปทำตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่จะถ่วงเวลาก็ไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องมีกำหนดเวลาไว้อยู่แล้ว อีกทั้งในทางปฏิบัติเขาจะร่วมมือกัน และต้องมองความเป็นจริงว่าใครมาเป็นประธานสภาก็ตามต้องพยายามรักษาความเป็นกลางไว้

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีตเลขานุการประธานรัฐสภา นายชวนกล่าวว่า การเป็นประธานสภาจำเป็นต้องเอาคนที่สามารถควบคุมสภาได้ ต้องประกอบด้วยความรู้ ประสบการณ์ของการทำงานในสภามาพอสมควร ที่จริงทางกฎหมายไม่ได้บังคับ อยู่ที่สภาจะเลือกใครมาดำรงตำแหน่งประธานสภาไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากที่สุด ความอาวุโสเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เพราะในสภาเป็นที่มี 500 ความคิด 500 คน ทำอย่างไรให้การประชุมสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยู่ที่การควบคุมของประธานสภา

ด้าน นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภากล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภากำหนด สำหรับการบรรจุว่าการประชุมสภารวมถึงวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่างๆ ประธานสภาไม่มีสิทธิที่จะเลือกบรรจุตามอำเภอใจได้ และไม่มีสิทธิที่จะเลื่อนร่างพ.ร.บ.ที่บรรจุไปแล้วขึ้นมาพิจารณา เป็นเรื่องของที่ประชุมสภาต้องตกลงกัน

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภา กล่าวว่า คุณสมบัติของประธานสภาอยู่ที่คติ ปฏิภาณไหวพริบของคนที่มาทำหน้าที่ ไม่ได้เกี่ยวกับอายุมากหรือน้อย เวลานั่งอยู่บนบัลลังก์จะมีเลขาธิการสภาหรือเลขาธิการของวุฒิสภา ในกรณีที่เป็นการประชุมร่วมจะนั่งเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ๆ เวลามีประเด็นถกเถียงเรื่องข้อบังคับ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ จะชอร์ตโน้ตขึ้นไปแจ้งถึงระเบียบข้อบังคับและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมาให้ เพื่อให้ประธานสภาประกอบการตัดสินใจและวินิจฉัย ไม่ยากในการทำงาน แต่อยู่ที่ว่าสามารถคุมได้หรือไม่เท่านั้น

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.เคยโพสต์เฟซบุ๊กไว้ว่า คิดหนักมาก เปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยหน้า ดูรายชื่อว่าที่ประธานสภาที่พรรคกร้าว เสนอไร้ฝีมือ ด้อยคุณภาพ ไม่ขอเรียกท่านประธานสภาที่เคารพแน่นอน กระดากปาก

สำหรับขั้นตอนการโหวตเลือกประธานสภา เมื่อกกต.ประกาศ รับรองส.ส.เป็นทางการอย่างน้อย 95% หรือ 475 คนแล้ว จะมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรก หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้

จากนั้นจะประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หลังโปรดเกล้าฯ ลงมา เป็นการเรียกประชุมรัฐสภา ประกอบด้วยส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คน เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง

ประธานสภาจะเป็นผู้นำรายชื่อนายกฯ คนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ

15.00 น. วันที่ 19 มิ.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 เขต บัญชีรายชื่อครบ 100 คน

เป็นอันว่าก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 มีส.ส. 151 คน เพื่อไทยเป็นพรรคอันดับ 2 มีส.ส. 141 คน

นั่นหมายความว่า พรรคก้าวไกลได้นั่งประธานสภา พรรคเพื่อไทยได้รองประธานสภาทั้ง 2 เก้าอี้

แม้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่เคยมีการวางตัวบุคคล

แต่ช่วงที่ผ่านมามีชื่อตัวเต็งประธานสภาของฝั่งเพื่อไทยคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค แกนนำอีก 2 คนคือ นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รวมทั้งนายชูศักดิ์ ศิรินิล แต่เมื่อเพื่อไทยไม่ได้ประธานสภาก็จะไม่มีชื่อนพ.ชลน่าน และนายสุชาติ เป็นรองประธานสภา

พรรคก้าวไกลมีชื่อติดโผ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ส.ส.บัญชี รายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ส.ส.พิษณุโลก นายธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ส.ส.กทม.

แต่เต็งจ๋าคือ นายณัฐวุฒิ อายุ 46 ปี จบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นหัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ก่อนหน้านี้ นายณัฐวุฒิ เคยให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมนั่งแท่นเป็นประธานสภา ถึงแม้จะมีประสบการณ์ทางการเมืองน้อย แต่เชื่อมั่นว่าสภาไม่ได้เป็นสภาแบบโดดๆ คนเดียว ยังมีเพื่อนสมาชิกสภาร่วมกันทำงาน ที่สำคัญมีสมาชิกข้าราชการสภาที่อยู่กันมายาวนาน ยิ่งมีความรู้ความสามารถแนะนำได้ และเชื่อว่าชื่อของทุกคนที่ปรากฏมีความพร้อม

แต่ท้ายที่สุดจะอยู่ที่การพูดคุย และขึ้นอยู่กับเสียงสมาชิกว่าจะเลือกใคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน