ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายสุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในสัปดาห์ที่ 23 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ 2,947 ราย เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยต่อประชากรแสนคน อยู่ที่ร้อยละ 53.63

โดยพบกลุ่มผู้ป่วยตามช่วงอายุ (ปี) อยู่ที่ 5-14 ปี ร้อยละ 126.64 รองลงมา อายุ 15-34 ปี ร้อยละ 86.44 อายุ 0-4 ปี ร้อยละ 50.44 อายุ 35-59 ปี ร้อยละ 35.42 และอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14.29

ขณะที่แขวงที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร ร้อยละ 38.48 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 25.29 และแขวงบุคคโล เขตธนบุรี 24.40

ด้านนางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ว่า ปัจจุบัน กทม.กำหนดให้บรรจุแผนที่โรคทั้ง 50 เขต ไว้ในศูนย์ข้อมูล เพื่อประเมินว่าพื้นที่ใดมีจำนวนโรคหรือความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ กทม.พยายามให้หน่วยงานสาธารณสุขลงตรวจสอบพื้นที่กำจัดลูกน้ำยุงลายให้มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ แก่อาสาสมัครใช้ลงพื้นที่กำจัดลูกน้ำยุงลาย

โดยมาตรการดังกล่าวจะนำไปใช้กับทุกบ้านเรือนในพื้นที่ที่พบความเสี่ยง โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เป็นกำลังสำคัญในการนำทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายไปให้ประชาชนในชุมชน พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าไม่ใช่เพียงน้ำขังหรือน้ำท่วมที่มองเห็นอย่างเดียวที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากยังมีน้ำขังจุดเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เช่น ในภาชนะที่ถูกนำไปทิ้ง ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดโรค

ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่อาจมีลักษณะชุมชนต่างกัน เช่น บางพื้นที่มีความเร่งรีบสูง ผู้คนออกจากบ้านแต่เช้าและกลับบ้านในตอนค่ำ ทำให้ระหว่างวันแทบไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตนเอง จึงไม่มีใครดูแลเรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายมากนัก กทม.จึงต้องเปลี่ยนแผนดำเนินการสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยกำชับให้หน่วยงานสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นพิเศษพร้อมประสานกับสำนักงานเขตในพื้นที่ที่ประชาชนไม่มีเวลาอยู่ในชุมชนตนเองมากนัก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน เช่น เขตรอบนอกอาจมีพื้นที่สีเขียวมาก หรือมีแนวโน้มที่จะมีน้ำขังกว่าเขตอื่น แต่จากข้อมูลกลับพบว่าไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออก เนื่องจากลักษณะวิถีชีวิตของประชาชนยังอยู่ติดพื้นที่ ประชาชนจึงมีส่วนร่วมกันดูแลพื้นที่ตนเอง เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อได้ ยิ่งคนอยู่ในพื้นที่มากขึ้นจำเป็นต้องดูแลความเรียบร้อยรอบๆ บ้านของตนเอง ซึ่งแตกต่างกับประชาชนพื้นที่กลางเมือง มีวิถีชีวิตต้องออกไปทำงานแต่เช้า กลับค่ำ จึงไม่มีเวลาดูแลอย่างจริงจัง ประกอบกับเวลามีฝนตกน้ำขัง ไม่มีใครคอยสำรวจดูแล จึงทำให้อัตราป่วยสูงกว่าพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่ติดชุมชน

“การใส่ใจป้องกันลูกน้ำยุงลายเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานเขต ส.ก.ในพื้นที่ และอาสาสมัครสาธารณสุข ในการร่วมกันลงพื้นที่ จะช่วยป้องกันโรคได้มากขึ้นดังนั้น พื้นที่ขนาดใหญ่ มีป่าไม้และทุ่งนาจำนวนมาก ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าจะมีอัตราโรคไข้เลือดออกสูง หากขึ้นอยู่กับลักษณะวิถีชีวิต ความใส่ใจร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแล ” น.ส.ทวิดากล่าว








Advertisement

สำหรับการเฝ้าระวังยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. 1 ข. คือ ปิด ปิดหรือคว่ำภาชนะเพื่อป้องกันยุงไข่ เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ ปล่อย ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติ ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และ ขัด ขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ หรือมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำโดยปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน