เก้าอี้ “ประธานสภา” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งภายหลัง กกต.ประกาศรับรอง 500 ส.ส. ส่งผลให้ไทม์ไลน์การเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาขยับใกล้เข้ามา คาดหมายอาจเป็น 6 ก.ค.

โควตาประธานสภากลายเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว หากแต่สามารถลดดีกรีความร้อนแรง ลงได้ระดับหนึ่ง หลังจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลตกลงกันได้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ยืนยันจากคำสัมภาษณ์ของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุจุดยืนของพรรคคือ 1.เห็นชอบหลักการว่าพรรคอันดับ 1 ได้โควตาประธานสภา 2.พรรคอันดับ 2 ได้เก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 และ 2

ภูมิธรรม

เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ระบุให้ยึดหลักการดังกล่าวไว้ มิเช่นนั้นกองเชียร์ 2 ฝ่ายจะถกเถียงกันไม่หยุด

ท่าทีของพรรคเพื่อไทยดังกล่าวได้รับการขอบคุณจากพรรคก้าวไกลทันที โดย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เอ่ยปากขอบคุณ และเห็นว่าคำตอบของพรรคเพื่อไทยจะทำให้การทำงานร่วมกันดีขึ้น

ชัยธวัช

ทั้งนี้ ข่าวชักเย่อเก้าอี้ประธานสภาเล็ดลอดออกมาตั้งแต่ก่อนเซ็น เอ็มโอยู 8 พรรค ว่า ก้าวไกลแสดงความประสงค์จับจอง แต่เพื่อไทยเห็นว่าก้าวไกลได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว เพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ก่อนที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุ พรรคก้าวไกลจะเสียประธานสภาไม่ได้ เพราะมีหลายเรื่องต้องผลักดันผ่านการตราพ.ร.บ. ทั้งกรณีนิรโทษกรรมความผิด จากการแสดงออกทางการเมือง การแก้มาตรา 112 นอกเหนือจากการคุมเกมในสภา และกำหนดทิศทางการประชุม

จุดเชื้อให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย สวนว่า การแสดงความเห็นของนายปิยบุตรเหมือนกดดัน ปิดช่องการพูดคุย ทั้งที่ยังไม่ได้มีการคุยเรื่องตัวบุคคล พร้อมยืนยันในพรรคเพื่อไทยก็มีบุคลากรที่มีความพร้อม

โดยที่มีตัวจี๊ดอย่าง นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค เพื่อไทย ฟาดซ้ำว่าจะกินรวบทุกตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้ชนะแบบขาดลอย ยันเพื่อไทยมีบุคลากรที่มีความเหมาะสม

จากนั้นพรรคเพื่อไทยทวีตท่ามกลางกระแสกดดันจากโซเชี่ยล ที่มองว่าเพื่อไทยไม่ควรต่อรองเก้าอี้ดังกล่าวว่า “ประธานสภาควรเปิดทาง ผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น.. เมื่อชนะมาด้วยกันก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน”

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุถ้าก้าวไกล พรรคอันดับ 2 จะไม่ขอตำแหน่งประธานสภา เพราะเข้าใจว่าพรรคแกนนำ ต้องได้ตำแหน่งนี้

ก่อนที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะสยบศึก ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กระบุ เรื่องประธานสภาเป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน ของพรรคร่วมรัฐบาลที่เล็กมาก หากเทียบกับภารกิจยุติสืบทอดอำนาจรัฐประหาร และให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลกลับไปพูดคุยกัน ผ่านตัวแทนแต่ละพรรคในวงเจรจาจะดีที่สุด

จนนำมาสู่การตั้งทีมเจรจาระหว่าง 2 พรรค โดยไม่เกี่ยวกับวงหารือ 8 พรรครวมจัดตั้งรัฐบาล และเดินหน้าสู่การประกาศหลักการข้างต้น

ท่ามกลางการปะทะคารม ยังมีรายชื่อบุคคลที่ตกเป็นข่าวคั่วเก้าอี้ประธานสภา พรรคเพื่อไทยมีชื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล

ส่วนพรรคก้าวไกลมีติดโผ 3 รายชื่อ คือ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค, นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม.

แต่เห็นแววมากกว่าคนอื่นคือนายณัฐวุฒิ ที่บุคลิกและความรู้ ด้านกฎหมายเข้าตาผู้อาวุโส ถึงขนาดนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ มองว่าทำหน้าที่ได้ เพราะสนใจและศึกษาการประชุมไว้พอสมควร

แต่ล่าสุด ประเด็นประธานสภากลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเตรียมเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ขึ้นแข่งกับแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล

โดยที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แม้ออกตัวได้ยินข่าวพร้อมสื่อ แต่ไม่ปฏิเสธ ระบุเพียงว่าการเลือกประธานสภาเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ทุกพรรคมีสิทธิ์เสนอชื่อ และทุกอย่างเป็นไปได้หมด

ธรรมนัส

ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยโวยลั่นเป็นแผนเสี้ยม เพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรค และหวังทำลายเพื่อไทย สอดรับกับที่ นพ.ชลน่าน ระบุพรรคเจ็บมามากกับเรื่องแบบนี้ เชื่อว่าจะไม่โง่ให้เขาทำลายพรรคต่อ

อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งจบลงเมื่อ 21 มิ.ย. ช่วงเปิดให้ส.ส.แสดงความเห็น ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ต่างคัดค้าน เห็นว่าไม่ควรยกตำแหน่งประธานสภาให้ก้าวไกล สอดรับไลน์หลุด ของพรรคเพื่อไทย

คอการเมืองจึงยังต้องติดตามกันต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน