ถึงเวลาเศรษฐกิจ‘เทกออฟ’
‘มติชน’เปิดเวทีระดมสมองคีย์แมน

รายงานพิเศษ

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ยังฝุ่นตลบในขณะนี้ แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การลงทุน ปากท้อง ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับทิศทางให้แม่นยำ จึงเป็นโอกาสดีที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดงานสัมมนา “Thailand : Take off” เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจไทยจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไปใน ทิศทางใด

งานนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์กันอย่างคับคั่ง

ดนุชา พิชยนันท์

เริ่มจาก นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อนาคตเศรษฐกิจไทย” โดยสรุปสาระสำคัญว่า คงต้องช่วยกันเทกออฟ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะเดินหน้าเทกออฟลำบากถ้าไม่ช่วยกัน ปัญหาเราก็มีหลายเรื่อง

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ก่อนที่จะเทกออฟ กัน ปัญหาของเราอยู่ที่ไหน ปัญหาของเราจริงๆ อยู่ที่ภาคการส่งออก ซึ่งจะพันมาที่ภาคการผลิตของฝั่งอุตสาหกรรม เป็นตัวเร่งหนึ่งที่จะต้องพูดคุยกัน และพยายามหาหนทางที่จะเดินหน้าในการแก้ปัญหาในภาคการส่งออก ต้องมีการปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นในปีนี้เองตัวการบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ของปี รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ในปีนี้ก็น่าจะได้สักประมาณ 28 ล้านคนอย่างที่คาดการณ์ไว้








Advertisement

ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านรอรัฐบาลใหม่ พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคาดว่าอย่างช้าที่สุดจะเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 จากการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ใช้งบปีงบประมาณและปีปฏิทิน ในช่วงไตรมาส 4/2566 จะมีงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และงบผูกพันอีก 9 แสนล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท

ขณะที่ไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะมีงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจตามปีปฏิทินออกสู่ระบบอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และมีงบผูกพันอีกประมาณ 7 แสนล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงิน 2 ไตรมาส ที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.8-1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจได้ ระหว่างที่รองบประมาณ 2567

“ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เดินหน้าฟื้นตัวได้ ต่อเนื่อง แต่ก็ยังห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่จะฉุดรั้งการใช้จ่ายในระยะต่อไป รวมถึงต้องดูหนี้เสียในกลุ่มรถยนต์ที่ต้องเฝ้าระวังจริงจัง เพราะมีแนวโน้มขยับขึ้นเรื่อยๆ ไตรมาสละ 0.2-0.3% และหนี้บัตรเครดิตที่ต้องระมัดระวังใช้จ่ายเกินตัว”

นายดนุชากล่าวว่า การทำรัฐสวัสดิการของรัฐบาล ชุดใหม่ต้องดูความเหมาะสม และสถานการณ์ด้านการคลัง ซึ่งช่วงนี้ควรต้องทำสวัสดิการแบบพุ่งเป้า ทำแบบถ้วนหน้าไม่ได้ การจะทำรัฐสวัสดิการได้ต้องมีฐานะการเงิน การคลังที่เข้มแข็งกว่านี้ ต้องมีการเร่งปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ปรับโครงสร้างภาษี และดึงกลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาเสียภาษี

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธาน ร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวในหัวข้อ “อุตสาหกรรมไทย ติดปีก โกอินเตอร์” ว่า ในการหารือร่วมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ฝากพิจารณา 5 ข้อคือ 1.เรื่องราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟ เป็นตัวฉุดรั้งความสามารถทางการแข่งขัน

2.เรื่องแรงงาน สะท้อนถึงเรื่องการขาดแคลนแรงงาน การอัพสกิล รีสกิลเพราะวันนี้ปัญหาของเราคือการที่เราจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ฟังดูดี แต่บุคลากรไม่มี รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อคน ใส่ยาแรงแบบนี้เลยคือพัง

3.เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเสริม 4.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อ ส่งเสริม Ease of Doing Business หรือการกิโยตินกฎหมาย ที่ล้าสมัย และ 5.เรื่องสิ่งแวดล้อม BCG

นอกจากนี้ มองว่าความท้าทายของการผลิตของโลก ตอนนี้โลกเผชิญกับเรื่องสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และที่สำคัญจะมีการย้ายฐานการผลิตที่เป็นการย้ายไปในประเทศพันธมิตร หรือการแยกขั้วกันชัดเจน ซึ่งในสมัยก่อนเป็นการย้ายกลับไปที่ประเทศ รวมทั้งโลกกำลังอยู่ในช่วงถดถอย ทางเศรษฐกิจ

“ท้ายที่สุดนี้โลกเปลี่ยนไว ไทยต้องปรับเร็ว เราต้องรวมพลังเป็นไทยแลนด์เทกออฟ ขอให้เดินหน้าพุ่งแรงแบบจรวด ไม่เอาแบบค่อยๆ บินแล้ว”

เกรียงไกร เธียรนุกุล
พีระพงศ์ จรูญเอก

ขณะที่ นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในหัวข้อ “อสังหาฯ ทะลุมิติไวร์สกอร์” ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 1 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2566 ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จากผลกระทบของมาตรการ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกการผ่อนผัน บ้านหลังที่ 2 และ 3 กู้ได้น้อยลงเหลือ 70-80%

“อยากฝากไปถึง ธปท.และรัฐบาลใหม่ ให้เห็นความสำคัญในการกลับมาผ่อนปรน LTV โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่กลางปีนี้ไปถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งไม่ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไร เพราะกลุ่มนี้หายไปตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว และยิ่งมาเจอโควิดนักเก็งกำไรคอนโดฯ หายหมดไปจากตลาดแล้ว ทั้งนี้ การผ่อนปรน LTV จะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่จะ ไปสร้างการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากมีผลกระทบเชิงบวกให้กับหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่รับเหมาก่อสร้างไปถึงภาคธุรกิจธนาคาร ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไปอีก 4-5 เท่า”

นายพีระพงศ์กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ไม่สู้ดีนัก แต่หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายใน ส.ค.ปีนี้ บนกติกาพรรคเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล น่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในปีนี้

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ส่วนทางด้านตลาดทุน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวในหัวข้อ “ตลาดทุนไทยปรับโหมด หุ้นกระทิง” ว่า ตลาดหุ้นไทยเวลาปรับตัวลงจะลง แรงกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ เวลาขึ้นก็ขึ้นน้อยกว่าชาวบ้าน สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีความ แข็งแรงมากนัก

อีกทั้งตลาดหุ้นโลก ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะตลาดกระทิง (ราคาหุ้นสูงขึ้นต่อเนื่องและมีการซื้อขายคึกคัก) แล้ว แต่ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะตลาดหมีอยู่ (ราคาหุ้นต่ำลง ต่อเนื่อง การซื้อขายก็น้อย) เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

“อยากฝากรัฐบาลใหม่ อย่ามองตลาดทุนเป็นศัตรู เนื่องจากตลาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเงินที่เอาเงินออมของภาคเศรษฐกิจไปจัดสรรให้กับภาคเอกชนที่ต้องการขยายการลงทุน ซึ่งนักลงทุนเป็นผู้เข้ามาช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาดทุน ไม่ใช่มาเอาประโยชน์จากตลาดทุน และตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับไปสู่ภาวะกระทิง แต่ไม่ง่าย ยกเว้นว่าถ้ารัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากตลาดทุนอย่างเต็มศักยภาพ”

สันติธาร เสถียรไทย

ปิ ดท้ายด้วย นายสันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาถูกความไม่มั่นคงทางการเมืองหลายรอบทำให้เศรษฐกิจที่เคยโต 7% ลงมาอยู่ที่โตเฉลี่ย 3% มาเป็นระยะเวลา 10 ปี เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าลง ความสามารถการแข่งขันลดลง การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้น้อยลง และมีความไม่ยั่งยืน อันเนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูง และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมา

ดังนั้น จึงอยากฝากรัฐบาลใหม่ 5 ข้อคือ 1.หยุดใช้ยา กระตุ้นระยะสั้น เพราะหนี้สาธารณะ 61% ของจีดีพี ภาระชำระหนี้ของรัฐบาลอยู่ที่ 10% ของจีดีพี และจะสูงขึ้นอีกจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และหากจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องกระตุ้นให้ตรงจุด 2.ประเทศไทยต้องผ่าตัด กฎกติกาที่ล้าสมัย มีปัญหาและไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดภาระได้มากถึง 1.33 แสนล้านบาท/ปี หรือ 0.8% ของจีดีพี

3.รัฐบาลต้องพร้อมในการออกไปหานายทุนเพื่อดึงให้มาลงทุน และเนื่องจากแรงงานที่หดตัวลง 4.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประชากรหนึ่งคนต้องสร้างรายได้ต่อหัว สร้างบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตได้มากขึ้น ใน 3 ด้านที่ต้องเร่งทำคือ ดิจิทัลสกิล ถัดมาเป็นการปรับทักษะ และดึงหัวกะทิด้านดิจิทัลจากทั่วโลกเข้ามา Workcation และ 5.สร้างภูมิคุ้มกันให้รับแรงกระแทกได้ดีขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันผ่านการบริหารความเสี่ยงทั้งด้านการเงิน

ทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาลชุดใหม่ต้องรับฟัง!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน