พาณิชย์เผยเกษตรกร 11% ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน ขณะที่กลุ่มผู้ค้ารายย่อย อาชีพรับจ้าง กลุ่มเปราะบางยังได้รับผลกระทบ กดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า บี้รัฐ-เอกชนเร่งแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยว่า ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นท้าทายของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ปรับเพิ่มจาก 7.7 ล้านล้านบาท ในปี 2551 เป็น 10.2 ล้านล้านบาท ในปี 2563

สถานะความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนคนจนลดลงจาก 65% ในปี 2531 เหลือเพียง 6.3% ในปี 2564 แต่หากมองเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2564) สัดส่วนคนจนไม่ได้ลดลง แต่กลับคงตัวอยู่ที่ 6-8% โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรกว่า 11% ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มทวีปเอเชียด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำมีทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊ก ดาต้า (Big data) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยี และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่องค์การสห ประชาชาติคาดการณ์ว่าปี 2562-2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก โดยไทยมีสัดส่วน 17.2% เป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเก๊า จะทำให้อัตราการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้น โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2564 ไทยมีผู้สูงวัย 13.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 31.3% ของประชากรทั้งประเทศ

“การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว กลุ่มผู้ค้า รายย่อย อาชีพรับจ้าง กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนาน ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดี ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควรมีนโยบาย ช่วยเหลือให้กลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว และสร้างให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน