มหิดลคิดค้นระบบสื่อสาร
ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

ไอคิวทะลุฟ้า

กลุ่มนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้น “ระบบ ดิซาสเตอร์ลิงก์ (DisasterLink)” ใช้สื่อสารฉุกเฉินในพื้นที่หลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว แม้การสื่อสารหลักจะถูกตัดขาด เพื่อเพิ่ม อัตรารอดชีวิตให้ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อไปยังทีมกู้ภัย หรือหน่วยงานเพื่อเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมนักศึกษาไทยจากวิศวะมหิดล เป็นตัวแทนประเทศไทยบนเวทีนานาชาติ นำเสนอไอเดียสิ่งประดิษฐ์กู้โลก ในงาน Invent For The Planet 2023 ร่วมกับ 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จาก 15 ประเทศ ณ เมืองเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โดยสมาชิกทีมไทย 6 คนรุ่นใหม่ในชื่อทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ประกอบด้วย นายวิทวัส สุดทวี นายกรวิชญ์ สุวรรณ นายศิรประกฤษฎิ์ ลิ้มตระกูลธงชัย นายพินิจ ไมตรีสกุลคีรี นายภานุวัฒน์ เรืองเบญจสกุล นายวีรพันธุ์ วีรวัฒน์ไกวัล โดยมี รศ.ดร.อิทธิพงษ์ ลีวงศ์วัฒน์ และ ดร.สมนิดา ภัทรนันท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นวัตกรรมดิซาสเตอร์ลิงก์

พลังคนรุ่นใหม่ช่วยโลก

วิทวัสและศิรประกฤษฎิ์

วิทวัส สุดทวี หรือ บูม หัวหน้าทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต กล่าวว่า ระบบดิซาสเตอร์ลิงก์เป็นระบบที่ใช้ติดต่อสื่อสารในช่วงหลังเกิดภัยพิบัติ มีจุดเด่นและประโยชน์คือแม้โครงสร้างสื่อสารถูกทำลาย ผู้ประสบภัยยังสามารถติดต่อขอความ ช่วยเหลือได้ทันท่วงที ประกอบด้วย 1.Primary Node หรือคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์หลักที่ใช้ในการรับข้อมูลต่างๆ เชื่อมต่อกับ Secondary Node 2.Subnode คือตัวขยายสัญญาณ WiFi ที่เซิร์ฟเวอร์หลักแชร์ ให้สามารถกระจายการเชื่อมต่อสู่ Web Application 3.เว็บไซต์สำหรับใส่ข้อมูล ภายในเว็บไซต์จะมีปุ่ม Emergency Button ใช้เพื่อจับสัญญาณ GPS ล่าสุดก่อนเครือข่ายจะล่ม และปุ่ม Rescue Team Room ใช้ติดต่อ พิมพ์ข้อความ รายละเอียดต่างๆ กับศูนย์ช่วยเหลือ








Advertisement

ศิรประกฤษฎิ์ ลิ้มตระกูลธงชัย หรือ ปัง กล่าวว่า ผู้ประสบภัยไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้ โดยเรานำประโยชน์จากความสามารถของโทรศัพท์ ทุกเครื่องที่มี WiFi Module มาใช้งาน และนำมาพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับวิธีการใช้งาน เมื่อผู้ประสบภัยที่มีโทรศัพท์มือถือเปิดหน้าเบราว์เซอร์ขึ้นมาจะพบเว็บไซต์ที่เราสร้างขึ้นแสดงขึ้นมายังหน้าจอทันที ผู้ประสบภัยสามารถกรอกข้อมูลที่สำคัญ พิมพ์รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งปัจจุบัน พิกัด สถานที่ จำนวนผู้ประสบภัยในพื้นที่ หรือข้อมูลทางการแพทย์ เช่น โรคประจำตัว โดยระบุให้ ครบถ้วนเพื่อรวดเร็วและแม่นยำต่อการช่วยเหลือ จากนั้นกดส่งข้อมูล ข้อมูลที่กรอกนั้นจะถูกส่งมายังเซิร์ฟเวอร์ของระบบในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ ทีมหน่วยกู้ภัยจะเตรียมความพร้อม อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ เข้าช่วยเหลือได้ถูกต้อง

ผลการทดสอบพบว่าเราสามารถพัฒนาต้นแบบและสร้างเครือข่ายแบบ Mesh Topology ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกันสำหรับให้ผู้ประสบภัยเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ และทดลองใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ประสบภัยเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Hotspot ที่ตัวระบบดิซาสเตอร์ลิงก์ปล่อยออกมา จากการทดสอบสามารถ ใช้งานได้ ส่งข้อความระบุพิกัดตำแหน่งปัจจุบันจากโมดูล GPS ไปยังเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน