“พยายามต่อสู้เอาชนะอวิชชาให้ได้ด้วยการบังคับตัวเองเสมอ นี้คือศีล เป็นรากฐานเบื้องต้นในการปฏิบัติ” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี…

“หลวงพ่อขัน พุทธญาโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดัง สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางไว้หลายชนิด ที่ได้รับความนิยมคือ เหรียญปั๊มรูปเหมือน ออกที่วัดบ้านสิงห์ สร้างขึ้นปี พ.ศ.2498 หลังมรณภาพแล้ว เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะวัดบ้านสิงห์ สร้างด้วยเนื้อทองแดงกะไหล่ทองเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น…

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศแบบมีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปจำลองหลวงพ่อขันนั่งเต็มองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มือซ้ายถือตาลปัตร ด้านล่างเขียนคำว่า หลวงพ่อขัน ด้านหลังไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยอักขรยันต์อ่านได้ว่า นะ โม พุท ธา ยะ ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า วัดบ้านสิงห์ ได้รับความนิยมมาก ถึงแม้จะเป็นเหรียญตายก็ตาม…

“หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร” วัดท่ากระบือ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา มีเหรียญรูปเหมือนที่ได้รับความนิยมคือ “เหรียญสุคโต” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2479 เป็นเหรียญที่ ปลุกเสกให้วัดอ่างทอง ลักษณะ เหรียญเป็นรูป 5 เหลี่ยมทรงจั่วแบบมีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัว 2 ชั้น (บัวคว่ำ-บัวหงาย) อยู่ภายในซุ้มมีขอบนูนล้อไปกับรูปทรงเหรียญ ด้านหลังมีอักขรยันต์อ่านได้ว่า “สุคโต” ด้านบนยันต์มีตัว “อุ เป็นเหรียญที่ค่อนข้างหายาก…

“หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน” หรือ “พระพุทธวิถีนายก” วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ยอดพระเกจิอาจารย์เรืองนามเมืองเจดีย์ใหญ่ สุดยอดเครื่องรางเบี้ยแก้ สร้างตามตำรับหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว กรรมวิธีการจัดสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม ต้องไปจัดหาหอยเบี้ย 1 ตัว ปรอทน้ำหนัก 1 บาท ชันโรงใต้ดินกลางแจ้ง 1 ก้อน แผ่นตะกั่วขนาด 4×5 นิ้ว 1 แผ่น เอาของทั้งหมดใส่ถาด พร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปถวายจะรับสิ่งของเอาไว้…

จากนั้นจะเสกปรอทแล้วเทปรอทจากขวดใส่ฝ่ามือเรียกเอาปรอทใส่เบี้ย แล้วอุดด้วยชันโรงที่ปากหอย เอาแผ่นตะกั่วห่อหุ้มหอยเบี้ยที่กรอกปรอทเอาไว้ ใช้ด้ามมีดเคาะจนแผ่นตะกั่วแนบสนิทกับตัวหอย ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จนกระทั่งแผ่นตะกั่วเรียบสนิทดี เมื่อหุ้มตะกั่วแล้วเสร็จ หลวงปู่เพิ่มลงจารอักขระบนตะกั่วที่ห่อหุ้มเบี้ยเอาไว้ บางรายเอาผ้าแดงผืนเล็กให้หลวงปู่ลงยันต์ให้ด้วยก็มี พอเสร็จก็จะปลุกเสกให้ เป็นอันแล้วเสร็จ ปัจจุบัน เบี้ยแก้หลวงปู่เพิ่มหายากยิ่ง…

“พระเทพสิทธาจารย์” หรือ “หลวงปู่จันทร์ เขมิโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม พระเถระ 5 แผ่นดิน วัตถุมงคลโดยเฉพาะเหรียญหลวงปู่จันทร์รุ่นแรก ปี พ.ศ.2500 นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมขณะนั้น จัดสร้างเหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่น 1 วัดศรีเทพ นครพนม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 25 ทศวรรษ…

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน กะไหล่ทอง ผิวไฟ และรมดำ จัดสร้างรวม 2,500 เหรียญ ด้านหน้าเหรียญ มีเส้นสันนูนรอบเหรียญ ใต้หูห่วงสลักคำว่า วัดศรีเทพ นครพนม ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์ ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูนคำว่า เจ้าคุณสารภาณมุนี ด้านหลังเหรียญมีเส้นสันขอบ ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์ 8 ทิศ โครงสร้างยันต์ดังกล่าวมีคาถาพระเจ้า 5 พระองค์กำกับไว้ ภายในโครงยันต์สี่เหลี่ยม ผืนผ้าไขว้กับสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีอักขระในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก นับได้ 25 ตัว ด้านล่างระบุพุทธศักราชที่สร้าง พ.ศ.๒๕๐๐ ถือเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงที่นับวันจะหายาก…

“หลวงพ่อวัน จันทสโร” หรือ “พระบริสุทธศีลาจาร” วัดประสิทธิชัย จ.ตรัง เป็นพระเกจิพุทธาคมที่ชาวเมืองตรังเลื่อมใสศรัทธา วัตถุมงคลสร้างไว้แจกจ่ายมากมาย แต่ที่ได้รับความนิยมสูงคือ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2487” ซึ่งเป็นเหรียญแกะแม่พิมพ์รูปหลวงพ่อคมชัดสวยงามมาก สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศลอายุครบ 68 ปี ในสมัยดำรงสมณศักดิ์พระครูวันส่วนใหญ่เป็นเนื้ออัลปาก้า แต่เป็นเนื้อตะกั่วและขนาดเล็กกว่า ก็เป็นเหรียญแท้เหมือนกัน แต่สร้างจำนวนน้อย…

“หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม” วัดนางใน ธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษ ชัยชาญ จ.อ่างทอง วัตถุมงคลที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด เหรียญรุ่นแรก สร้างในปี 2497 เซียนพระขนานว่า เหรียญยันต์ใหญ่ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหู จัดสร้างจำนวน 5,000 เหรียญด้านหน้าตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรงขอบเหรียญมีจุดไข่ปลาขนาดเล็กล้อมรอบ ด้านบนรูปเหมือนเขียนคำว่า “พระอุปัชฌาย์ (นุ่ม)” ด้านหลังไม่มีขอบตรงกลางเป็นรูปยันต์…

หลวงพ่อนุ่มนำเหรียญเข้าพิธีปลุกเสกครบไตรมาส หลังเสร็จพิธี ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจนทำให้ต้องจัดสร้างขึ้นใหม่อีก 2 ครั้ง เป็นที่มาของการเรียกพิมพ์ว่าพิมพ์ยันต์ใหญ่ พิมพ์ยันต์กลาง และพิมพ์ยันต์เล็ก ตามลำดับ ปัจจุบันเหรียญหลวงพ่อนุ่ม พิมพ์ยันต์ใหญ่ หายาก…

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน