ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ที่มีเป้าหมายสู่ความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สายการบินแอร์เอเชีย ได้ประกาศยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนในการรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เน้นย้ำเรียกร้องให้สายการบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

นับเป็นความท้าทายและโอกาสที่ทางกลุ่มแอร์เอเชีย ต้องดำเนินกลยุทธ์ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ภายใต้ 4 แนวทาง ได้แก่ การใช้เชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืน (Sustainable aviation fuels, SAF) การจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และการซื้อคาร์บอนเครดิต

การใช้เชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels, SAF)

การใช้ SAF ในสัดส่วนที่เหมาะสมภายในปี 2593 จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมัน JET A-1 ที่ผลิตจากฟอสซิล ตามแนวทางที่ ICAO ให้การสนับสนุนเชื้อเพลิงทดแทนอากาศยาน

จะเห็นว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา เริ่มมีหน่วยงานภาคเอกชนของไทยเข้ามาลงทุนในการผลิต SAF เพื่อรองรับความต้องการที่ทยอยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยแอร์เอเชีย เริ่มมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการที่จะนำ SAF มาใช้ในการบินเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง

โดยไทยแอร์เอเชีย ได้เริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลจากผู้ผลิตเครื่องบินตระกูล Airbus A320 ซึ่งเป็นฝูงบินหลักของไทยแอร์เอเชีย ว่าสามารถรองรับการใช้งาน SAF ได้ในอัตราส่วนผสม 50% กับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบ JET A-1 ได้








Advertisement

อุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการใช้เชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืนของสายการบินไทยแอร์เอเชียนั้น คือราคาที่สูงกว่าน้ำมันทั่วไปและสนามบินในประเทศไทย

เพราะต้องยอมรับว่าด้วยราคาของ SAF ที่สูงกว่าราคาน้ำมัน JET A-1 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 2-3 เท่าตัว ทำให้ยังไม่มีสายการบินไหนในโลกนำ SAF มาใช้ทำการบินในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2565 ไทยแอร์เอเชียได้เข้าร่วมหารือกับทีมงานของกลุ่มธุรกิจแอร์เอเชียและสำนักงานการบินพลเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นภาพรวมของแผนการผลิตและการจัดจำหน่ายของ SAF ในภูมิภาคอาเซียน

จากการร่วมมือดังกล่าว ช่วยให้บริษัทสามารถระบุสนามบินที่บริษัทสามารถซื้อ SAF ได้ ในกรณีที่ผู้บริหารได้ตัดสินใจที่จะเริ่มใช้ SAF หรือมีการแนะนำนโยบายระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย

กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย จึงจัดงาน “AirAsia Sustainability Day 2023” เพื่อประกาศนโยบายยุทธศาสตร์และเส้นทางสู่ความยั่งยืนพร้อมพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมสำนักงานและหน่วยปฏิบัติการ ที่ประเทศมาเลเซีย

ยัพ มุน ชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน กลุ่มแคปปิตัล เอ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเชิงลึก สร้างสรรค์ สานต่อเส้นทางสู่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแอร์เอเชีย ตลอดจนความท้าทายและโอกาสในการนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปฏิบัติปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โอกาสในการจัดหาเงินทุนด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และการจัดการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพและองค์ความรู้

“ไม่ว่าเราจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ สิ่งที่ต้องมาก่อนคำถามนี้คือ เราใช้ เชื้อเพลิงเกินความจำเป็นหรือไม่ โครงการประหยัดเชื้อเพลิงของแอร์เอเชียเป็นหนึ่งในโครงการที่ดีที่สุด ซึ่งช่วยให้เราบรรลุผลสำเร็จท่ามกลางต้นทุนและการปล่อยมลพิษต่อที่นั่งที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม เป็นการขยายขอบเขตวาระความยั่งยืนให้กว้างเเละลึกขึ้น โดยผสมผสานแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ที่แข็งแกร่งเข้ากับลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์บริษัท เพื่อให้สายการบินฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง”

เพราะเรามองว่าการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมและธุรกิจการบินเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจในทุกมิติ ไม่เพียงแค่สายการบินเท่านั้น ต้องมาจากผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมทั้งหมด บนโจทย์ใหญ่ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ท่ามกลางสื่อได้เตือนแทบทุกวันว่า โลกมีแนวโน้มที่จะถึงจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมเร็วกว่าที่คาดไว้ สิ่งนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้นและทันที เพื่อตระหนักและเข้าถึงโซลูชั่นต่อไป

การจัดการฝูงบิน

บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ยังคงเป็นฝูงบินที่ค่อนข้างใหม่ มีอายุเฉลี่ยของอากาศยานเท่ากับ 9 ปี ประกอบด้วย อากาศยานตระกูลแอร์บัส A320 จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ A320ceo A320neo และ A321neo ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอากาศยานเชิงพาณิชย์ลำตัวแคบที่ประหยัดน้ำมันที่สุด อีกทั้งฝูงบินจำนวน 54 ลำของบริษัทยังเป็นไปตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษของ ICAO CAEP/8 NOx ล่าสุดด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนในการต่ออายุประจำการของฝูงบินด้วยการแทนที่อากาศยานแบบ A320 ทั้งหมดที่มีอยู่ด้วยอากาศยานแบบ A321neo ภายในปี 2578 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของกลุ่มแอร์เอเชีย ในการรักษารูปแบบของที่นั่งผู้โดยสารให้เป็นรูปแบบเดียวทั้งอากาศยาน

อากาศยานแบบ A321neo แต่ละลำจะมีที่นั่งทั้งหมด 236 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มความจุของผู้โดยสาร ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อที่นั่ง และลดค่าการปล่อยมลพิษสูงถึง 20% ควบคู่กับการลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และระดับเสียงรบกวน มีแผนจะได้รับการส่งมอบอากาศยานแบบ A321neo ลำต่อไปในปี 2567 เพื่อเพิ่มจากอากาศยานแบบ A321neo ที่มีอยู่จำนวน 2 ลำให้บริการประจำประเทศไทยในปัจจุบัน

ฝ่ายปฏิบัติการการบินของแอร์เอเชีย ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่สายการบินคำนึงถึง ESG และการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝูงบินที่กำลังเติบโต ปัจจุบันแอร์เอเชียมียอดสั่งซื้อเครื่องบิน A321neo ใหม่ 362 ลํา ซึ่งจะส่งมอบระหว่างปี 2567-2578

โดย โจนาธาน ซานเจย์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและประสิทธิภาพโครงการปฏิบัติการบินของแอร์เอเชีย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 สายการบินสามารถประหยัดการใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซ CO2 สายการบินแอร์เอเชียยังได้สำรวจแผนการนำเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนเข้าสู่พอร์ตโฟลิโอภายในปี 2568

ปี 2566 บริษัทยังได้อัพเกรดซอฟต์แวร์ของเครื่องบิน 12 ลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพของฝูงบินอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้ติดตามพัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของอากาศยานอย่างใกล้ชิด เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ภายในปี 2578 ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าบริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานในการพัฒนาอากาศยานเชิงพาณิชย์มีแผนใช้พลังงานไฮโดรเจนภายในปี 2578 กลุ่มแอร์เอเชียจึงได้ลงนามสนับสนุนบริษัท ZeAero เป็นบริษัทในสหราชอาณาจักรที่ลงทุนในการพัฒนาเครื่องบินที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เช่นกัน

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทได้รักษามาตรฐานในการควบคุมความเข้มของคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินให้ต่ำต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง ลดต้นทุนการดำเนินงานและการปล่อยก๊าซ CO2 จนทำให้ปริมาณความหนาแน่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลเมตรที่นั่งของไทยแอร์เอเชียลดลง 5.6% จากการปฏิบัติตามมาตรการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการปล่อยมลพิษเป็นไปตามกระบวนการปฏิบัติการบินสีเขียวเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

การซื้อคาร์บอนเครดิต

กลุ่มแอร์เอเชียได้เข้าร่วมโครงการชดเชยและลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CORSIA) สู่ชั้นบรรยากาศไม่ให้เกินกว่าเกณฑ์ค่ากลางที่ ICAO กำหนด 85% ของปริมาณก๊าซ CO2 ที่ถูกปล่อยโดยภาคธุรกิจการบินในปี 2562 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

แม้การลดค่าพื้นฐานในการชดเชยของ CORSIA นั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ข้อกำหนดการชดเชยสูงขึ้นในปี 2567 แต่บริษัทก็ได้ค้นพบและจัดเตรียมโครงการชดเชยคาร์บอนที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของ CORSIA อย่างน้อยหนึ่งโครงการในประเทศไทยเป็นแผนรองรับ

ในอนาคตแอร์เอเชีย ยังคงมีเป้าหมายในการหานวัตกรรมและวิธีการปฏิบัติการบินรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้งานในฝูงบิน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันอย่างต่อเนื่อง

หวังช่วยลดโลกร้อนที่กำลังโจมตีทั่วโลกอยู่ในขณะนี้!

พรพิมล แย้มประชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน