วันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ค. 2566 น้อมรำลึกครบรอบ 4 ปี มรณกาล “หลวงปู่สอ ขันติโก” วัดโพธิ์ศรี ต.รามราช อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม อดีตพระเถระที่เคร่งครัด เปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้านโดยทั่วไป

เป็นศิษย์สืบสายธรรม หลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน อดีต เจ้าอาวาสวัดพระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลุ่มน้ำสองฝั่งโขงไทย-ลาว

มีนามเดิมว่า สอ แก้วดี ท่านเกิดในตระกูลชาวนา เมื่อวันจันทร์ ปีมะเส็ง พ.ศ.2448 ตามคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดระบุว่าเกิดเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2448 ปีมะเส็ง ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นชาวบ้าน บ้านบะหว้า หมู่ 10 ต.รามราช อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

บิดาชื่อ นายเพ็ง เป็นชาวลาว มารดาชื่อ นางจันทร์ ครอบครัวมีพี่น้องร่วมกัน 6 คน

เมื่อแรกเกิด แม่บอกว่าบุตรชายมีสายรกพันคอ จะได้บวช

ส่วนชีวิตในวัยเด็ก เป็นคนที่เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน นิสัยชอบเข้าวัดฟังธรรม

มีโอกาสเข้ากราบนมัสการหลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปัญโณ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงขอติดตามไปยังภูเขาควายฝั่งลาวและได้บวชเป็นสามเณร คอยรับใช้อุปัฏฐากหลวงปู่สีทัตถ์ เล่าเรียนสรรพวิชาต่างๆ จากท่าน

กระทั่งอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีหลวงปู่สีทัตถ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านอยู่รับใช้อุปัฏฐากหลวงปู่สีทัตถ์เป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขา ถ้ำภูผาต่างๆ จนได้ทราบข่าวอาการป่วยของโยมแม่ ในขณะนั้น หลวงปู่มีอายุ 32 ปี พรรษา 12 จึงรีบเดินทางมาดูแลแม่ผู้ให้กำเนิด ลาสิกขาออกมาดูแลแม่จนถึงวาระสุดท้ายของโยมแม่

ต่อมา จึงขอเข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง

เป็นพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัย วัตรปฏิบัติดี ด้วยความที่มีจิตใจแน่วแน่ในการแสวงหาทางหลุดพ้น จึงได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขาในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

ข้ามไปยังฝั่งลาว บ้านบุ่ง อยู่จำพรรษา เพื่อพัฒนาวัดบ้านบุ่งอยู่หลายปี ก่อนออกเดินทางไปพบหลวงปู่สีทัตถ์อีกครั้ง เฝ้าอุปัฏฐากอยู่ด้วยจนกระทั่ง หลวงปู่สีทัตถ์ มรณภาพ

หลังจากนั้น จึงกลับมาที่ฝั่งไทย จำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี บ้านบะหว้า ต.รามราช ในขณะนั้นยังมีครูบาอาจารย์ที่เป็นทั้งสหธรรมิกและศิษย์ผู้พี่หลายท่าน อาทิ หลวงปู่สนธิ์ วัดท่าดอกแก้ว ศิษย์ผู้ใหญ่ในหลวงปู่สีทัตถ์, หลวงปู่คาร คันธิโย, หลวงปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ขอศึกษากับท่านอยู่เป็นระยะ

เคยเป็นพระเกจิที่มีอายุยืนรูปหนึ่งในภาคอีสาน ดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย แม้อายุมาก แต่สายตามองเห็นชัด หูได้ยินเป็นปกติ สนทนากับญาติโยมได้สบาย ฉันภัตตาหารเนื้อปลา ยอดผักสด กล้วยน้ำว้าวันละ 1 ลูก

ด้านการสร้างวัตถุมงคลนั้น นานครั้งในวาระพิเศษ จึงจัดสร้างสักครั้งหนึ่ง จะเน้นคำสอนให้ลูกศิษย์นำไปปฏิบัติมากกว่า

ช่วงปัจฉิมวัย อาพาธมานานหลายเดือน คณะแพทย์จาก ร.พ.นครพนม และ ร.พ.ท่าอุเทน เข้ารักษาอาการอย่างใกล้ชิด ต่อมามีอาการปอดติดเชื้อ ความดันลดลง กระทั่งละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 18.12 น. วันที่ 6 ก.ค.2562

สิริอายุ 114 ปี พรรษา 94

ชนะ วสุรักคะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน