“สมัยก่อนบางมดเนี่ยไปทางไหนก็มีแต่ส้มทั้งนั้นแหละ เก็บส้มลงเรือกันเป็นหมื่นๆ กิโล ปลูกง่าย ดูแลง่าย น้ำดี ดินดี หลักๆ ก็มีส้มเขียวหวาน ส้มจีน บางสวนก็แซมด้วยลิ้นจี่ มะม่วง มะพร้าว มีผลไม้กินทั้งปี”

ส่วนหนึ่งจากถ้อยคำของคนเก่าแก่ย่านบางมดถึงเรื่องราววิถีชาวสวนฝั่งธนในวันที่สวนส้มยังรุ่งเรือง

ความงดงามในวิถีที่เป็นไปตามธรรมชาติหมุนเวียนคงไม่มีใครเล่าได้ชัดเจนเท่าคนในชุมชน แม้เวลาล่วงเลยมานาน ทว่าความทรงจำเหล่านั้นยังไม่เลือนหาย แววตาและ รอยยิ้มที่ดูมีความสุขเมื่อหวนนึกถึงจึงมีให้เห็นทุกครั้งที่ได้เล่าสู่กันฟัง

ย่านบางมด กรุงเทพมหานคร ชุมชนที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศทางธรรมชาติ เพราะมีทั้งพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พืชพรรณที่ปลูกในดินละแวกนี้จึงมีรสชาติอร่อย มีลำคลองที่โยงใยเชื่อมร้อยผู้คนมากถึง 40 ลำคลอง

เมื่อน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต อาชีพของชาวบ้านที่นี่จึงพึ่งพิงสายน้ำและธรรมชาติ ส่วนที่เป็นพื้นที่น้ำจืดประกอบอาชีพเลี้ยงปลา ทำสวน ปลูกพืชผัก ยกยอหาปลาตามธรรมชาติในพื้นที่น้ำเค็ม ยิ่งไปกว่านั้นองค์ความรู้อันเป็นเอกลักษณ์ของคนริมคลองนำไปสู่อาชีพหลากหลาย ทั้งคนซ่อมเรือ ต่อเรือ ขายเรือ ร้านค้าสะดวกซื้อสะดวกขายทางเรือ รวมไปถึงล้งรับซื้อผลหมากรากไม้

แม้สองฝั่งคลองบางมดวันนี้จะไม่คึกคักเท่าวันวาน แต่เรื่องดีก็คือยังมีผู้ใหญ่ ใจดีเปิดสวนเปิดบ้านต้อนรับให้ได้ไปเที่ยวไปชม ทำความรู้จักวิถีริมคลองที่ หลายคนเกือบจะลืมเลือน

เสียงเรือเครื่องดังสะท้อนน้ำมาแต่ไกลจากคลองบางมด เมื่อเลี้ยวลัดเลาะเข้าคลองบาง ระนกอันเป็นจุดหมาย เสียงเครื่องยนต์ค่อยๆ หรี่ลงจนดับสนิท สลับกับเสียงเจื้อยแจ้วสดใสของเด็กวัยซน เทียบท่าเข้าจอดบริเวณสวนร่มรื่น ส้มเขียวหวานยืนต้นเรียงรายในพื้นที่กว่า 10 ไร่ เรียกว่าเป็นสวนส้มในย่านบางมดผืนใหญ่ผืนสุดท้ายแล้วก็ว่าได้

เด็กชายฮาบึ๊น รัฐสิทธิ์ มาแย้ม วัย 12 ปี กับ น้องอั๊ม อติวิชญ์ วงศ์เจริญ วัย 10 ขวบ คู่หูคู่ซี้ ทั้งสองคนเป็นลูกหลานริมคลองบางมด กำลังฝึกฝนเป็นไกด์น้อยพาเที่ยวพาชมชุมชน โอกาสดีที่ได้มาเยือนเรียนรู้เรื่องส้มบางมดในตำนาน

“ผมไม่เคยเห็นสวนส้มใหญ่ขนาดนี้เลยครับ มีแต่ต้นส้มเต็มไปหมดเลย แถมออก ลูกเยอะมากด้วย ต้นส้มที่บ้านผมออกทีละลูกสองลูก รสชาติจะจืดๆ ฝาดๆ แต่ส้มที่นี่อร่อย หวานๆ เปรี้ยวๆ นิดหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องเลือกเก็บลูกใหญ่และนิ่มครับ” เด็กชายฮาบึ๊นบอกเล่าออกรสชาติ

ส่วนน้องอั๊มก็เห็นด้วย “แต่ก่อนผมไม่กินส้มเลยครับ รู้สึกว่ามันไม่อร่อย พอลองชิมส้มสวนนี้ปรากฏว่าอร่อยครับ ติดใจเลย รู้สึกธรรมชาติดีครับ มีนก มีแมลง มีปลา มีจิ้งเหลนด้วย”

สวนส้มมดแดง ปลูกและดูแลโดยลุงแดง กิตติศักดิ์ ขวัญบัว อายุ 72 ปี ผู้ทำเกษตรในเมืองมาตั้งแต่จำความได้

“ส้มเขียวหวานปลูกที่บางมดมีรสชาติดี เขาจึงเรียกติดปากกันว่าส้มบางมด จะเก็บ ได้ก็ต้องรอถึง 11 เดือน ถ้ามันแล้งขาดน้ำ ก็ต้องรอเป็นปีกว่าจะเก็บเกี่ยว ยิ่งเดี๋ยวนี้ น้ำเสียน้ำเค็มมันเยอะขึ้นๆ เมื่อก่อนทำง่ายกว่าเพราะน้ำมันดี”

น้ำคือหัวใจหลักของคนทำเกษตร ปัญหาใหญ่ของชาวสวนส้มเมืองกรุงคือขาดแคลนน้ำจืดมาหล่อเลี้ยงพืชพรรณ

สวนส้มลุงแดงมีส้มราว 750 ต้น ในช่วงที่น้ำเค็มรุกหนักเข้าสวนต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำประปาเพื่อต่อลมหายใจให้ส้มบางมด หากมีน้ำจืด น้ำคุณภาพดี ไม่แน่เราอาจจะได้พื้นที่เกษตรในเมืองขยับขยาย วิถีชาวสวน ชุมชนริมคลองกลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ตามเด็กๆ บางมดไปพบอีกมุมหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ลัดเลาะที่เที่ยวที่ลับริมคลอง ล่องเรือไปชิมส้มบางมดถึงสวนแบบจุใจ ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ส้มบางมด เช้าวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 05.05 น. ช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทาง เฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน

กนกวรรณ อำไพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน