ยกแรกของการเปิดรัฐสภาโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เพราะส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นชอบ

ขณะที่ดีลจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่ลงตัว และยังมีปมปัญหาส่วนตัวของนายพิธา ที่ต้องรอการวินิจฉัยชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสมาชิกภาพ ส.ส.จากการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี และกรณีหาเสียงด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคอีก

ทำให้การเมืองไทยยิ่งอึมครึมเกินคาดเดามากขึ้น ไม่รู้จะได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศเมื่อไหร่ จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังอยู่ในช่วง ฟื้นตัวจากโควิด-19

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากการหารือกับ นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่อยู่ระหว่างการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ทุกคนเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย หากมีการชุมนุมทางการเมืองในกรณีที่การโหวตนายกฯ ไม่เป็นไปตามที่หวัง ต้องถือว่าเป็นอุดมการณ์ที่ทุกฝ่ายสามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย หรือรุนแรง จนกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศในภาพรวม นักลงทุนเข้าใจในการสนับสนุน หรือกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย

แต่ก็มีความคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ส่วนนักลงทุนรายใหม่กนอ. ได้ชี้แจงอย่างต่อเนื่องว่านโยบายด้านการลงทุนของไทยจะคงเดินหน้าต่อไปแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) แสดงความเห็นว่านายพิธาจะรอดจากข้อกล่าวหายาก เพราะทำการเมืองไม่ระวัง แต่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขนาดนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ทำรายการชิมไป บ่นไป ยังโดนเลย ยิ่งพรรคก้าวไกลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 ก็จะถูกสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว. สกัดการไม่โหวตให้เป็นนายกฯ ซึ่งขณะนี้มีความเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้น หากมีความวุ่นวายจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวแน่นอน

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่าการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป กระทบภาคธุรกิจ นักลงทุน ประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคเอกชนต้องการให้พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาล หาวิธีแก้ไขเพื่อ ก้าวข้ามปัญหาตรงนี้ไปให้ได้ เพราะการที่ทุกอย่างจะไปขึ้นอยู่กับนายพิธาเพียงคนเดียวไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เอกชนต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด ไม่อยากให้มีความรุนแรง เพราะจัดตั้งรัฐบาลช้าเท่าใดผลเสียน่าจะตกอยู่ที่ภาคธุรกิจ เพราะหลังจากเลือกตั้งมาแล้ว แม้จะมี นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแต่ธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเงียบ เพราะภาคธุรกิจที่รับงานจากภาครัฐหยุดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการจัดประชุมและสัมมนา








Advertisement

ทั้งนี้ หากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการชุมนุมตามมาจะยิ่งไม่ดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวไหนที่อยากเดินทางมาแล้วหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัย ยิ่งสมัยนี้มีโซเชี่ยลมีเดีย หากเกิดการชุมนุมมีการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอออกไปทำให้ข่าวออกไปนอกประเทศรวดเร็วและเป็นเรื่องจริงด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นจะกังวลในเรื่องเหล่านี้มาก

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่าภาคเอกชนพร้อมรับคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่หากทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีกจะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนใหม่ เพราะนักลงทุนต้องการเห็นหน้าตาคณะรัฐมนตรีและนายกฯ คนใหม่ รวมทั้งรับทราบนโยบายการบริหารประเทศที่จะแถลงต่อรัฐสภา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองหากเกิดขึ้น ควรควบคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบภาค ท่องเที่ยว และหากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อยังมีรัฐบาลรักษาการทำงาน แต่ถ้ามีเรื่องจำเป็นต้องตัดสินใจ รัฐบาลควรต้องขอคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก.ก.ต. โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดทำงบประมาณใหม่เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนหวังอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ไม่ว่าจะพรรคไหน เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะเอกชนสามารถทำงานร่วมกับพรรคใดก็ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพราะมีเรื่องเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่ต้องรอรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อน โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าระบบประชาธิปไตยที่สะท้อนเสียงของประชาชนจำนวนมาก ควรจะเป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนต้องการ การจัดตั้งรัฐบาลควรจบในรัฐสภา แต่หากไม่เป็นไปตามที่ประชาชนเลือก มีโอกาสที่กลุ่มที่สนับสนุนนายพิธาจะออกมารวมตัวกัน ลงถนนและก่อให้เกิดความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความ เชื่อมั่น หรือราคาหุ้นที่จะผันผวน

ประกอบกับเศรษฐกิจไทยก็มีความไม่แน่นอนสูงอยู่แล้ว จากปัญหาหลายเรื่อง เช่น ภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ภาคการส่งออกติดลบ ซึ่งหากไทยยังไม่มีรัฐบาลเข้ามา ขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายของประเทศเศรษฐกิจจะยิ่งชะลอตัว

“ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัย คือ 1.การท่องเที่ยว หากปัญหาการเมืองกระทบเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยปีนี้ 30 ล้านคน จะฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 2.การใช้จ่ายของภาครัฐ หากยัง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้”

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่าหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายจากการขัดแย้งทางการเมืองขึ้น ซึ่งกระทบในหลายภาคธุรกิจ นักลงทุนจะมีการชะลอการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจที่มีมูลค่าสูงๆ เพื่อรอดูสถานการณ์และความชัดเจนของการเมืองไทยก่อน ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็ว อยากเห็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เพื่อจะได้กำหนดแนวทางการลงทุนให้สอดคล้องกัน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและความเชื่อมั่น ผู้บริโภค จึงอยากสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว และราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ย้ำชัดเจนว่ากรณีที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไม่ผ่าน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะหากมีความล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากจะกระทบต่องบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐแล้ว ยังกระทบความเชื่อมั่นด้วย เพราะภาคเอกชนกำลังรออยู่ และหากกรณีผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกมาเลวร้ายมีความเป็นไปได้ที่จีดีพีอาจจะอยู่ที่ประมาณ 2.5% อย่างที่สภาอุตสาหกรรมไทย (สอท.) ประเมินจีดีพีไว้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ชี้ว่าขณะนี้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเห็นตรงกันว่าปัญหาความไม่ชัดเจนทางการเมืองกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย หากตั้งรัฐบาลช้าไทยจะเสียโอกาสด้านลงทุน เพราะรัฐบาลยังกำหนดนโยบายไม่ได้ งบประมาณก็จะล่าช้ากระทบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จากนี้ต้องจับตาว่า จะโหวตเลือกนายกฯ ได้หรือไม่ หรือโหวตแล้วใครได้เป็นนายกฯ และจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ หากตั้งรัฐบาลได้ภายใน ส.ค.-ก.ย. 2566 เศรษฐกิจปีนี้จะไปต่อได้ โตได้ตามกรอบ 3-3.5%

แต่หากตั้งรัฐบาลไม่ทันก.ย. 2566 และเกิดการชุมนุมประท้วงรุนแรง ภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังอาจได้รับผลกระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะหายไปราว 10 ล้านคน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะฉุดทำให้จีดีพีของไทยปีนี้โตลดต่ำลง 1%

ที่ทำได้ตอนนี้คือ รอลุ้นคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ และรอผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตอบไม่ได้ว่าอีกนานแค่ไหน และหากท้ายที่สุดนายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ก็มีความเสี่ยงที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอาจจะออกมาชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจกลัวที่สุด เพราะหากม็อบรุนแรง ทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนคงเผ่นแน่บไม่มาไทย เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่เหลือเพียงตัวเดียวอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็คงดับสนิท

ฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมดชะลอตัวอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน