วรรณกรรมคลาสสิคของไทยที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอันเป็นที่นิยมต่อกลุ่มนักวิจารณ์วรรณกรรม สายนักอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต และนักอ่านที่ชื่นชอบการปลุกใจขึ้นต่อสู้ต่อความอยุติธรรมในสังคมทุกรูปแบบ

“ปีศาจ” และ “ความรักของวัลยา” 2 ปกนวนิยายขึ้นหิ้งสุดคลาสสิคของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ที่ไม่เคยตกยุคสมัยแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด

“เสนีย์ เสาวพงศ์” เป็นนามปากกาของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักการทูต นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์

ได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัลศรีบูรพาคนแรก ในปีพ.ศ.2531 รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2533 และรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ.2541

สร้างสรรค์นิยายอมตะที่ฝังอยู่ในใจนักอ่านทุกยุคทุกสมัยมาอย่างยาวนานและเป็นที่จดจำของวงการวรรณกรรมไทย ผลงานครองใจนักอ่านด้วยเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับห้วงชีวิตและสถานการณ์สังคมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ จนสามารถเปรียบได้กับการ “อยู่เหนือกาลเวลา” อย่างสมน้ำสมเนื้อ

“สำนักพิมพ์มติชน-คอลัมน์บุ๊คสโตร์ หนังสือพิมพ์ข่าวสด” ขอแนะนำให้นักอ่านทุกท่านได้รู้จักกับนวนิยาย 2 เรื่องของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ถือเป็นผลงานวรรณกรรมขึ้นหิ้งในใจของใครหลายคนด้วยความที่มีเนื้อหาอัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคมอย่างแรงกล้า

แม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเขียนขึ้นมากว่า 70 ปีแล้ว แต่เนื้อหาและประเด็นในแต่ละเรื่องก็ยังคงสดใหม่ ซึ่งนักอ่านยังคงสัมผัสได้อยู่เสมอมา








Advertisement

● ปีศาจ

อมตะนิยายของสามัญชนที่ฉายให้เห็นการต่อสู้กันระหว่าง “โลกเก่า” และ “โลกใหม่” ที่มีฉากหลังเป็นสังคมไทยยุคก่อนกึ่งพุทธกาลเพียงไม่นานและฉายให้เห็นถึง “ช่องว่าง” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้น ทว่า เนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมยังคงเป็นสิ่งที่กระตุ้นความตื่นตัวต่อนักอ่านในทุกยุคทุกสมัยได้อย่างเสมอมากระทั่งจวบจนปัจจุบัน ดังที่ สาย สีมา ได้กล่าวไว้ในเรื่องว่า

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว …ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน” สาย สีมา

“ปีศาจ” ปรากฏโฉมครั้งแรกราวยุค 2490 โดยตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารสยามสมัย ระหว่างปี 2496-2497 จากนั้นถูกรวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เกวียนทองของ ลาว คำหอม ปี 2500 แต่ต้องหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงปี 2501 หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กวาดล้างหนังสือหัวก้าวหน้าที่เข้าข่ายว่าเป็นหนังสือคอมมิวนิสต์ หรือ “หนังสือต้องห้าม”

แต่ “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ กลับรอดจากการกวาดล้าง เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนิยายผี

● ความรักของวัลยา

นวนิยายที่ฉายภาพ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ชีวิตของผู้คนในสังคมผ่านรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ผสานกับความหวัง ความฝัน ความเจ็บช้ำ และอุดมการณ์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของ “วัลยา” นักศึกษาสาวผู้รักในศิลปะและมวลชน และบรรดาหนุ่มสาวต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างสถานะ ต่างทรรศนะ ณ ใจกลางเมืองปารีส มหานครแห่งชีวิต มหานครอันเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติและความเท่าเทียม

“นกมันอาจจะร้องเพลงเมื่อใดก็ได้ เมื่อมันนึกอยากจะร้อง เมื่อมันอยู่กับคู่ของมัน โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของนกอื่นๆ แต่คนเราจะทำเช่นนั้นอย่างไรได้ เราจะร้องเพลงแห่งความสำราญได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตของคนเราส่วนใหญ่ยังอยู่ในความทุกข์ คนอื่นเขาอาจจะทำได้ แต่ดิฉันทำไม่ได้หรอก” – วัลยา

“ความรักของวัลยา” ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสยามสมัย ในปี 2495 ก่อนรวมพิมพ์ครั้งแรกในปี 2496 โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น ชื่อเรื่องที่ชวนให้ดูเป็นนวนิยายความรักหวานแหวว โรมานซ์จน เบาหวานขึ้นอาจเป็นสิ่งที่หลอกตาผู้อ่านหลายคน

เพราะแท้ที่จริงแล้ว วัลยา ไม่ใช่ผู้หญิงตามขนบนิยมอย่างที่เคยเป็นมา ทั้งในความเป็นวรรณกรรมและในความเป็นผู้หญิงที่สังคมสร้างขึ้น และประทับตราให้กับผู้หญิงทุกๆ คน

นอกจากวัลยาจะไม่ใช่ผู้หญิงเช่นนั้นแล้ว เธอยังต่อต้านความเป็นผู้หญิงแบบที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์สังคมอีกด้วย

ทั้ง “ปีศาจ” และ “ความรักของวัลยา” จึงเป็นอมตะนิยายที่อยู่เหนือกาลเวลา!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน