ผลจากการลงคะแนนของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติไม่ผ่านการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

แม้จะได้เสียงสนับสนุนจากส.ส.มากถึง 311 เสียง แต่มีส.ว.โหวตให้เพียง 13 คน จึงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา นั่นคือ 376 เสียง

และในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง

ทางพรรคก้าวไกลมีความเคลื่อนไหว นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ออกมายืนยันจะหารือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อเสนอชื่อ นายพิธา ชิงตำแหน่งนายกฯ

ขณะเดียวกันก็มี ส.ว.ทั้ง นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายสมชาย แสวงการ นายประพันธ์ คูณมี ออกมาประกาศถึงแม้พรรคก้าวไกล จะยอมถอยไม่แก้มาตรา 112 แต่ก็ยังคงไม่โหวตให้อยู่ดี

พร้อมทั้งยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ไม่มีการลงมติ หรือประธานสภาอนุญาต

ฉะนั้น ชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จบแล้ว เพราะได้เสียง เห็นชอบเป็นนายกฯ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของ 2 สภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงทำให้ญัตติดังกล่าวเป็นอันตกไป

การจะเสนอชื่อนายพิธา ให้โหวตอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถือว่า ทำไม่ได้ เพราะญัตติตกไป ถือว่าจบแล้ว

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าว ขั้วรัฐบาลเดิมจะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ลงแข่งขัน

โดยมั่นใจว่า จะได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว. ผนึกกับส.ส. 188 เสียงในขั้วรัฐบาลเดิม มีโอกาสได้เป็นนายกฯ

สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.

เตือน 8 พรรคร่วม หากยังดันทุรัง เสนอชื่อ นายพิธา ในการโหวตครั้งที่สอง เชื่อได้คะแนนไม่ต่างจากเดิม หรือลดกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ที่สำคัญอาจได้ ‘ตาอยู่’ มาแทน

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงคลิปขอบคุณประชาชนและรัฐสภา 324 เสียง ที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ

ประกาศเปิดแคมเปญแก้ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. ควบคู่สมรภูมิโหวตนายกฯ หากถ้าสู้ 2 สมรภูมิแล้ว พรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็พร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย

เปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้เอ็มโอยู ที่ทำร่วมกันไว้

ส.ส.พรรคทุกคนพร้อมสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย

พร้อมๆ กับออกโรดแม็ป ‘ก้าวไกล’ ตีกรอบเวลาภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ หากพ่ายแพ้ทุกเงื่อนไข ถึงจะเปิดทางพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล

ส่งผลให้แกนนำพรรคเพื่อไทยเปิดเกม ‘รุก’ ทันที

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุแม้นายพิธา จะมีเจตนาดีที่จะให้กำลังใจกับประชาชนว่ายังสู้อยู่

แต่หากวันที่ 19 ก.ค. ยังเสนอชื่อ นายพิธา แล้วฝ่ายเสียงข้างน้อยเสนอแข่ง อาจจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือใครก็ตาม

อย่าลืมว่ากลุ่ม 188 เสียง รวมเสียงส.ว. 250 คน มีแนวโน้มเป็นไปได้ ที่จะได้เป็นนายกฯ

ถ้าเราแพ้ ก็หมดโอกาสตั้งรัฐบาล ซึ่งตรงนี้เรายังเห็นต่าง ก็ต้องคุยกัน โดยจะหารือในที่ประชุม 8 พรรค วันที่ 18 ก.ค.นี้

นายสุเชาวน์ มีหนองหว้า อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ระบุว่า ผลการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อ 13 ก.ค. ไม่ได้ผิดคาดไปจากการคาดการณ์

แม้จะสะท้อนถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในเอ็มโอยู ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่เสียงของส.ว. ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน ให้นายพิธา เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ทั้งการงดออกเสียง และส่วนหนึ่ง ที่ไม่ได้เข้าประชุม แสดงถึงการไม่ยอมรับการเข้าสู่ตำแหน่งของนายพิธา อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความขัดแย้งของ 2 กลุ่มแนวคิด คือ กลุ่มอนุรักษนิยมกับกลุ่มประชาธิปไตย ว่ายังมีอยู่ในการเมืองไทย

ส่วนการโหวตในรอบสอง ผมคิดว่าเสียงสนับสนุนคงไม่มากกว่าเดิม หรืออาจลดลงด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเสียงส.ว. ด้วยแรงเสียดทานที่พรรค ก้าวไกล ยื่นแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ อาจทำให้ ส.ว.บางกลุ่มที่ไม่พอใจอยู่แล้ว ยิ่งเป็นแรงฉุดที่ทำให้คะแนนเสียงที่จะสนับสนุนพรรคก้าวไกลลดลง

ส่วนความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเข้ามาเป็น นายกฯ ถือว่าน่าจับตา เพราะหากนายพิธา ไม่สามารถฝ่าด่านในสภาได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ส.ว.จะสนับสนุนพล.อ.ประวิตร มีข้ออ้างเพื่อให้ประเทศเดินไปสู่สภาวะปกติ

ด้วยเงื่อนไขหนึ่งคือ การหาทางออก และยุติความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งการหาทางลงไม่ได้ และยังยืดเยื้ออยู่จะไม่เป็นผลดีกับบ้านเมือง ตัวเลือกจากอีกฟากฝั่ง อาจจะเป็นตัวเลือกเข้ามาในช่วงนี้ก่อน โดยเชื่อว่า จะเป็นในรูปแบบที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้

ตัวแปรที่สำคัญ จึงน่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน