เลือกตั้งผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว รัฐสภา ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ได้

การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก เมื่อ 13 ก.ค. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่เห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดต นายกฯ ซึ่งมีพรรคการเมือง 8 พรรค จำนวน 312 เสียง เป็นผู้เสนอ

ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการโหวตครั้งที่สอง เมื่อ 19 ก.ค. ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41

วันเดียวกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก สั่งให้พิธาหยุดทำหน้าที่สส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปมคุณสมบัติ กรณีถูกร้อง ถือหุ้นสื่อ

ส่งผลให้พิธาหยุดเส้นทางสู่ตำแหน่ง นายกฯ ทันที

เมื่อพรรคอันดับ 1 ก้าวไกล ไม่สามารถนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้แล้ว ลำดับต่อไปจึงเป็นคิวของพรรคอันดับ 2 เพื่อไทย ได้สิทธิ์นำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นเป็นนายกฯ

พรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ 3 คน ประกอบด้วย เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ

สำหรับแคนดิเดตนายกฯ ที่เหมาะสมจะได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา แพทองธารประกาศสนับสนุนเศรษฐา มีความเหมาะสมที่สุด

ขณะที่เศรษฐาระบุพร้อมทำหน้าที่ แต่ต้องรอฟังมติกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นด้วยว่า สูตรจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยไม่มีเรื่องของมาตรา 112 ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุน จาก สว. รวมถึงสส.หลายพรรคที่ประกาศ ไม่สังฆกรรมพรรคแตะต้องมาตรา 112

ขณะที่การโหวตเลือกนายกฯ ยังไม่ได้ บทสรุป ชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏขึ้น มาพร้อมๆ กับข่าวดีลลับสลับขั้วจัดตั้ง รัฐบาล

โดย ‘บิ๊กป้อม’ มีสิทธิ์สอดแทรกเป็น นายกฯ ได้เช่นกัน แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม

27 ก.ค.นี้ ประธานรัฐสภานัดโหวต นายกฯ ครั้งที่ 3 จะเกิดอะไรขึ้น จะได้นายกฯ คนที่ 30 ในวันดังกล่าวเลยหรือไม่ หรือยังต้องนัดโหวตครั้งต่อๆ ไปอีก จึงเป็นเรื่องที่ น่าติดตามอย่างใกล้ชิด

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ชื่อเล่น ‘ทิม’ เกิด 5 ก.ย. 2523 อายุย่าง 43 ปี

เรียนระดับมัธยมที่ประเทศนิวซีแลนด์

ปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจการเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำเร็จปริญญาโทจาก 2 สถาบันชั้นนำระดับโลก ด้านการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และด้านการบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีแมสซา ชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา

นักเรียนไทยคนแรกที่คว้าทุนฮาร์วาร์ด

เคยติดอันดับ 50 หนุ่ม CLEO ปี 2008

ผู้บริหาร บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ธุรกิจสกัดน้ำมันจากรำข้าวของตระกูลตั้งแต่รุ่นพ่อ, กรรมการบริหาร บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย)

แต่งงานกับ ‘ต่าย’ ชุติมา ทีปะนาถ นักแสดงหญิง มีลูกสาว 1 คน ก่อน หย่าร้าง

ก้าวเข้าสู่วงการเมือง เป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี, ประจำกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชักชวนเข้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ การ เลือกตั้งปี 2562

โดดเด่นแจ้งเกิด ‘ดาวสภาดวงใหม่’ ในการอภิปรายวันแถลงนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เปิดประเด็นปัญหากระดุม 5 เม็ด

มี.ค. 2563 หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกล ร่วมกับอดีตสมาชิกพรรคอีก 54 คน

ได้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล

เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนการเมืองไทย นำทัพก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้ 151 สส. ผงาดขึ้นแท่นพรรคอันดับ 1

จับมือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่ไม่ผ่านที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 13 ก.ค.

19 ก.ค.ที่ผ่านมา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่สส. และรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อโหวตนายกฯ ซ้ำ

ปิดฉากหมดสิทธิ์ชิงนายกฯ

เศรษฐา ทวีสิน

ชื่อเล่น ‘นิด’ เกิด 15 ก.พ. 2506 อายุ 60 ปี

สมรสกับ แพทย์หญิง พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ มีบุตรด้วยกัน 3 คน

ปริญญาโท ด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา

ปี 2529 ผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด)

เป็นประธานอำนวยการและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ผลประกอบการปี 2564 มีรายได้ 29,747.52 ล้านบาท กำไร 2,017.28 ล้านบาท

มั่นใจในความคิด ความรู้ และประสบ การณ์สะสมมา พร้อมแบ่งปันให้กับทุกคน จนกลายเป็นซีอีโอสาย Call Out ที่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่

ทำให้ ‘แสนสิริ’ ติด 1 ใน 10 บริษัทที่ คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย

ก่อนเลือกตั้งพ.ค.2566 เข้าพรรคเพื่อไทยเต็มตัว ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ได้รับการสนับสนุนให้ชิงเก้าอี้นายกฯ ในการประชุมร่วมรัฐสภา 27 ก.ค.นี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ชื่อเล่น ‘ป้อม’ อายุย่าง 78 ปี เกิด 11 ส.ค. 2488 ที่กรุงเทพฯ

ศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล, เตรียมทหารรุ่น 6, จปร.รุ่น 17

ทหารเสือราชินี เติบโตจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.)

พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ มีรุ่นน้องเจริญก้าวหน้าตามมา ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้เป็นผบ.ทบ.ทั้งหมด

ผ่านตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.), รองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ

ปี 2547 ผงาดผบ.ทบ.

ปี 2549 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ปลายปี 2551 มีส่วนสำคัญพลิกขั้วอำนาจ ผลักดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ หรือที่รู้จักกัน “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”

รับตำแหน่ง รมว.กลาโหม รัฐบาลอภิสิทธิ์

เป็นประธานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด สำนักงานอยู่ในพื้นที่กรมทหารราบที่ 1 รอ. (ร.1 รอ.)

ประธานโอลิมปิคไทย และนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำ

ถือเป็นผู้มากบารมีทุกวงการไม่ว่าทหาร นักการเมือง นักธุรกิจ วงการกีฬา ให้ความเคารพเกรงใจ มากมายคอนเน็กชั่น

ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ยึดอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ หญิง ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษา คสช.

นั่งเก้าอี้ รองนายกฯ ตั้งแต่รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องรัฐบาลหลังเลือกตั้งมี.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน

มิ.ย.2563 เป็นหัวหน้าพรรค และ แคนดิเดตนายกฯ พลังประชารัฐ

เลือกตั้ง 14 พ.ค. ได้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หนึ่งเดียวของพลังประชารัฐ โดยพรรคได้สส.เข้าสภา 40 คน

เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันดับ 4 ที่มีโอกาสสอดแทรกขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ หากพรรคอันดับต้นๆ ตั้งนายกฯ ไม่สำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน