โครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” เกิดขึ้นจากนโยบาย 7 Go Green เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมงของ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ESG

นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า บริษัทในฐานะสมาชิกภาคีเครือข่ายโรงเรียน-ชุมชน-องค์กรไร้ถัง ได้ร่วมกับสมาชิกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศการจัดการขยะ (Waste Management Ecosystem) จัดตั้งโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการจัดการขยะระดับพื้นที่ “เกาะ” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มักจะมีปริมาณขยะจำนวนมาก ให้จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรเทาปัญหาขยะซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญระดับประเทศและโลก

เมื่อปี 2564 ประเทศไทยติดท็อป 5 ประเทศที่มีขยะพลาสติกล้นทะเล เราและเพื่อนสมาชิกภาคีจึงตระหนักดีว่าทุกภาคส่วนควรต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้ จึงเลือกเริ่มต้นโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” ที่เกาะพะงัน ซึ่งพบปัญหาขยะมากถึง 50 ตันต่อวันในพื้นที่ 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลเกาะพะงัน เทศบาลตำบล เพชรพะงัน และเทศบาลตำบลบ้านใต้” นายประสิทธิ์กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการนั้น จะให้โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา หนึ่งในโรงเรียนในโครงการของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้การดูแลของซีพี ออลล์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” มอบองค์ความรู้ด้านการ Reuse, Recycle, Upcycle และเป็นต้นแบบการจัดการขยะแก่ชุมชน ผ่าน 3 หลักการ ลด แยก ขยายเครือข่าย โดยหากการดำเนินการที่เกาะพะงันประสบความสำเร็จ อาจมีการขยายผลสู่เกาะอื่นๆ

ด้าน นางภัทรภร พุทธรัตน์ ผอ.โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้นำ “โครงการต้นกล้าไร้ถัง” โมเดลการจัดการขยะแบบครบวงจร ภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED มาพัฒนาให้เกิด “เกาะพะงันไร้ถัง” โดยเริ่มให้ทุกห้องเรียนลดและแยกวัสดุอย่างละเอียด พร้อมทั้งต่อยอดองค์ความรู้เป็นวิธีการ Upcycle ขยะพลาสติกสู่ “อิฐรักษ์โลก” เพื่อขยายผลเป็นวิสาหกิจโรงเรียน-ชุมชนในอนาคต

“เราแปรรูปขยะพลาสติกกำพร้าในโรงเรียน เช่น ซองขนม เปลือกลูกอม บรรจุหีบห่อ หรือที่เป็นขยะแห้ง นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เข้าสู่กระบวนการทำ อิฐรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานยืดหยุ่นดี มาปูเป็นลานกีฬาอเนกประสงค์รักษ์โลก ขนาด 80 ตร.ม. เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการขยะและคัดแยกวัสดุอย่างถูกต้อง” นางภัทรภรกล่าวเสริม

ด้าน นายประพันธ์ เดี่ยววนิช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่เทศบาลตำบลเกาะพะงัน พบขยะ 20 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา และชุมชนมาบริหารจัดการขยะบริเวณเกาะกันทุกวันศุกร์จนเป็นกิจกรรมประจำเกาะ ปัจจุบันได้ส่งเสริมโมเดลเกาะพะงันไร้ถัง ด้วยการลดถังขยะ โดยร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน ร้านค้า ในการลดใช้ถุงพลาสติกลดใช้โฟมหันมาใช้ใบตองแทน ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนดีมาก

ขณะที่ น้องแพรว-นางสาวชลลดา บัวสมุย นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา กล่าวถึงประโยชน์และแนวทางการต่อยอดองค์ความรู้ว่า หลังจากนี้จะเริ่มไปจัดการขยะที่บ้านของตัวเอง แยกเป็น 3 ประเภทคือ ขวดพลาสติก ขยะจากเศษอาหาร และขยะพลาสติกทั่วไป

“ช่วยกันกำจัดขยะให้เกาะน่าอยู่น่าเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน