หลังจากพรรคเพื่อไทย(พท.) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองเดิม ที่มีเสียงรวม 312 เสียง

ที่ประชุม 8 พรรคให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยหาเสียงจากสว.และพรรคการเมืองอื่นๆ มาเติมให้มีเสียงเพียงพอในการโหวตนายกฯ คืออย่างน้อย 375 เสียง เพื่อเดินหน้าตั้งรัฐบาลต่อไป และหากแนวทางดังกล่าว ไม่สำเร็จก็ให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยในการพิจารณาดำเนินการแนวทางอื่นๆ

ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเชิญ 5 พรรครัฐบาลขั้วเดิม คือ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) พรรคชาติพัฒนากล้า(ชพก.) มาร่วมหารือ ที่พรรคเพื่อไทย

แม้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะยืนยันว่า เป็นการเชิญมาหารือแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตและทางออกของประเทศ ร่วมกันเท่านั้น

แต่โดยนัยยะทางการเมือง สังคมต่างตีความว่า เป็นสัญญาณ ‘พลิกขั้ว’ ตั้งรัฐบาล โดยบีบให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

ในวงเสวนาวิเคราะห์การโหวตนายกรอบที่สาม และการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักวิชาการมีความเห็น ดังนี้

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีทางเลือกในการจัดตั้งรัฐบาลควรพยายามจัดตั้งอย่างถึงที่สุดก่อน

ส่วนพรรคก้าวไกล มีทางเลือกที่ 1.ยืนยันเรื่องแก้ไขมาตรา 112 แล้วเป็นฝ่ายค้าน และ 2.มีการเปลี่ยนจากการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ข้อบังคับแทน

นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สุดคือ สว.แต่ทุกฝ่ายอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ประชาชนยอมรับแล้วไม่เกิดปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ประชาชนจำนวนมากมีเสียงไปในทางเดียวกันว่าให้เราไปเลือกตั้งกันทำไม ที่สุดแล้วอยู่ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องจัดตั้งรัฐบาลที่สง่างามเพื่อให้ประชาชนยอมรับ

อีกทางคือประชาชนให้การยอมรับน้อยและประชาชนต่อต้านรัฐบาลเสถียรภาพต่ำทั้งในสภาและนอกสภา ย่อมทำให้เกิดปัญหา ในประเทศอีกหลายอย่างตามมา ต่อให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยก็ควรต้องมีต่อไปในสิ่งที่พูดคุยกันได้ ความพยายามที่จะสลายขั้วประชาธิปไตยของฝั่งอำนาจหนึ่งกับพรรค เพื่อไทยดูเหมือนจะทำสำเร็จ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะต้องตระหนักไม่ให้เกิดความบาดหมางในทางการเมือง

ด้าน นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ค่อนข้างชัดเจนพอสมควรว่ามีปมปัญหาเยอะพอสมควร ปัญหาแรกคือเราได้เห็นอิทธิพลของสว. อยู่เหนือการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และหยุดยั้งการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย โดยการใช้อำนาจที่ตัวเองมีในการเลือกนายกฯ สกัดกั้นพรรคการเมืองเสียงข้างมากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ขาดความชอบธรรมทางการเมือง ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจก็ตาม แต่การกระทำของสว.ดูเหมือนจะไม่สะท้อนการเป็น ปวงชนชาวไทย แต่สะท้อนถึงความคิดและจิตสำนึกของกลุ่มอำนาจที่เป็นเครือข่ายของพวกพ้องตัวเองเป็นหลัก และมองข้ามอำนาจของประชาชน

การจัดตั้งรัฐบาล เราเห็นกระบวนการการทำลายหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งการมีมติของสว.และสส.ให้ข้อบังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและเสาหลักของกฎหมาย สิ่งที่น่าสนใจคือถ้าเป็นสว.เพียงกลุ่มเดียวทำเช่นนั้น ก็ไม่ประหลาดใจ เพราะที่มาไม่ได้มีความผูกพันกับประชาชน แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือสส. 188 คน ไปผสมโรงกับสว. ไปทำลายแหล่งกำเนิดของตนเองที่มาตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ เมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ส่งไม้ต่อ ไปให้พรรคเพื่อไทย แต่ยังต้องการรักษาเจตจำนงที่ต้องการ การเปลี่ยนแปลงอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน

สิ่งแรกที่พรรคเพื่อไทยควรทำคือการโน้มน้าวสว.ว่าควรจะได้กี่เสียง จากนั้นจึงค่อยไปพูดคุยกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะเป็นพรรคพรรคภูมิไทย พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อดูเสียง

แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยข้ามขั้นตามที่ควรจะเป็น หรือพรรคเพื่อไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการบดขยี้เสียงของประชาชน เพราะทำให้สังคมเข้าใจและคิดไปในทิศทางเดียวกันว่าพรรคเพื่อไทย ยืมปากของทุกพรรคการเมืองเหล่านี้พูดเพื่อขับไล่พรรคก้าวไกลออกจากการร่วมรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะมีการปฏิเสธว่าเชิญมาเพื่อซักถาม แต่เป็นการพูด ที่คงไม่มีใครเชื่อ พูดไปเขาก็คิดว่าเป็นการแก้ตัวที่น่ารังเกียจมากกว่า

พรรคเพื่อไทยยังมีโอกาสในการแก้ตัวในเวลาที่เหลืออยู่ก่อนวันโหวตนายกฯ หากไม่ทำก็ต้องรับผลการกระทำด้วยฉากทัศน์ที่เกิดขึ้น หากพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วหลังจากที่ดูจากปฏิกิริยามวลชน อารมณ์ความรู้สึก ยิ่งมีความขุ่นมากยิ่งขึ้น

ถ้าหากพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจริงๆจะต้องเผชิญหน้ากับแรงปฏิกิริยาโต้กลับกับประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและคนที่ไม่ได้ สนับสนุนพรรคเพื่อไทย คือ พรรคก้าวไกล

นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้เห็นบทบาทชนชั้นนำในสังคมไทย ที่พยายามรักษาอำนาจของตัวเอง สิ่งที่ไม่ปกติคือการเมืองที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในแนวดิ่งระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

การขยับของชนชั้นนำที่เห็น ประการแรก คือ การเลือกประธานสภา ที่พรรคอันดับ 1 ไม่สามารถเป็นประธานสภา ได้ ต่อมา คือ เรื่องของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ทำให้ชนชั้นนำกังวลใจ จึงมีการสร้างเงื่อนไขที่เปราะบาง นั่นคือการหยิบยกเรื่อง มาตรา 112 มาทำลายนายพิธา

ประการต่อมา การให้สว.ปิดเกม เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลจากพรรคลำดับ 2 ซึ่งหลังจากนี้แรงกดดันจะมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น พรรคเพื่อไทยควรทำความเข้าใจกับพรรคก้าวไกลอีกสักรอบ ไม่ได้หมายความว่าให้มีการลดเพดาน แต่ให้มาจัดลำดับความสำคัญใหม่ เช่น การสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเรื่อง มาตรา 112 และเอาวาระอื่นขึ้นมาก่อน ซึ่งวาระเร่งด่วน คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สิ่งที่กังวลตอนนี้ คือกลัวว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย จะไหลไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่มีใครผ่านสักคน และอาจจะไหลไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ ตอนนั้นผู้คนในสังคมจะรับไม่ได้แน่นอน

เมื่อพรรคก้าวไกล เดินมาถึงจุดนี้ต้องทบทวนแนวทางในอดีต ที่เคยเรียกร้องให้พรรคการเมืองอื่นๆ โหวตให้รัฐบาลก้าวไกล โดยไม่ขอเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อปิดสวิตช์สว. ครั้งนี้ก้าวไกลควรถอยออกไปเอง และไม่ร่วมตั้งรัฐบาล เพื่อปิดสวิตช์สภาสูง ซึ่งจะหมายถึง การปิดสวิตช์ไม่ให้ผู้มีอำนาจบางคนกลับเข้ามาอยู่ในเกมด้วย

หากก้าวไกล ดึงดันจะไปแบบนี้ อย่าลืมว่าเพื่อไทย มีโอกาสโหวตจำกัด หากแคนดิเดตถูกตีตกครบ เราได้เห็นคนหยิบชิ้นปลามันแน่นอน

ก้าวไกลสามารถพิจารณาตัวเองได้ว่าจะสละตัวเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะบวกเพิ่มเป็นคะแนนในอนาคต หรือจะรั้งทุกอย่างไว้ให้อยู่กับที่

นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานะที่ยากลำบากว่าจะเดินเกมยังไงต่อ การเล่นการเมืองที่คาบลูกคาบดอกจะทำให้พรรค เพื่อไทยถูกตั้งคำถามในเชิงลบ เพราะการไปเจอกับพรรคขั้วตรงข้าม ย่อมรู้คำตอบอยู่แล้วว่า พรรคเหล่านั้นคิดอย่างไร

อีกทั้งพรรคเพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ ไม่น่าจะเป็นเนื้อเดียวกันได้ จึงเหมือนเป็นการยืมปากพรรคการเมืองอื่น มาเป็นข้ออ้าง เพื่อไม่ให้พรรคก้าวไกลเดินต่อได้

ถ้าพรรคเพื่อไทยหนักแน่นในมติเสียงของประชาชน และยืนยันในความเป็น 8 พรรคร่วมรัฐบาล ประชาชนจะพอเข้าใจว่า พรรคเพื่อไทย ทำเต็มที่แล้ว ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องเดินเกมอย่างระมัดระวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน