นายณกรณ์ ตรรกรวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ยางพารา (Traceability) เพื่อรองรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป โดยมุ่งบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง ข้อมูลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (การรับซื้อยางสมาชิกเพื่อแปรรูป) และข้อมูลผู้ซื้อขายยางผ่านตลาดกลางยางพาราของ กยท. สำหรับข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนกับ กยท.แล้ว จะสามารถระบุที่ตั้งของสวนยาง รองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยางได้ และเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กยท.จึงพัฒนาระบบบริการข้อมูลด้านภาพถ่ายดาวเทียมผ่านแอพพลิเคชั่น “RAOT GIS” ขึ้น เป็นการยกระดับข้อมูลสู่ Digital Platform โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. สามารถลงชื่อเข้าใช้งานได้ทันที และสามารถอัพเดตข้อมูลสวนยาง ด้วยการวาดพิกัดแปลงสวนยาง อัพโหลดรูปถ่ายสวนยางและเอกสารต่างๆ ได้ด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ รวมถึงสามารถดูพิกัดพื้นที่สวนยางของตนเองและพื้นที่ใกล้เคียงได้

“RAOT GIS จะช่วยให้การค้นหาตำแหน่งสวนยางทั่วประเทศสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงแปลงสวนยางทั้งประเทศเข้าด้วยกัน เป็นอีกเครื่องมือที่ กยท.นำมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย” นายณกรณ์กล่าว

ผู้ว่าการ กยท.กล่าวเพิ่มเติมว่า แอพพลิเคชั่น “RAOT GIS” สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการทำสวนยางในมิติต่างๆ ทั้งการบริหารข้อมูลสวนปลูกแทน สวนประกันรายได้ พร้อมวิเคราะห์และบริการข้อมูลรายงานเชิงพื้นที่ เช่น รายงานการปลูกแทนตามอายุและประเภทยางพารา ความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกยางและพืชชนิดอื่นๆ การคาดการณ์การใช้ปุ๋ย รวมถึงสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการขนส่ง ให้สามารถกระจายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดยางพารา พร้อมให้ดาวน์โหลดและใช้งานได้บนสมาร์ตโฟนทั้งระบบ Android และ iOS ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน