นับถอยหลังด้วยใจระทึก เมื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดประชุมสส.-สว.เพื่อโหวตเลือกนายกฯ รอบสาม ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

แต่ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ ต้องลุ้นด่านศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการประชุมวันที่ 3 ส.ค. เพื่อวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกฯ รอบสอง เพราะเป็นการเสนอญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ สั่งให้ชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ไว้ก่อน จะทำให้การประชุมรัฐสภา วันที่ 4 ส.ค.ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ แต่พิจารณาวาระเดียวคือ ร่างรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ

แต่ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลนัดประชุม 8 พรรคร่วมในวันที่ 2 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่าการประชุมครั้งนี้จะรายงานข้อมูลที่ได้ไปพูดคุย เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากทั้ง สว.และ สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งต่างมีปัญหาตรงกันคือห้ามแก้ไขมาตรา 112 และหากพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ให้เสียงสนับสนุน

“ที่ประชุม 8 พรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลจะหาทางออกให้เราอย่างไร ซึ่งเราอยากให้พรรคก้าวไกลได้ตัดสินใจในส่วนนี้”

ตอกย้ำด้วยความเห็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค เพื่อไทยก่อนหน้านี้ว่า “เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดไม่ได้ ในเมื่อเราหมดปัญญาแล้ว ทำไมไม่ส่งต่อให้คนอื่น ก็คือพรรคอันดับสาม นั่นหมายความว่าเรายกเสียงข้างมากเราไปให้เสียงข้างน้อย”

ขณะที่ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยังซัดพรรคก้าวไกลว่า ขณะนี้ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะไปแก้ปัญหาให้พรรคก้าวไกล ทั้งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมให้ประชาชน ไม่ได้มาแก้ปัญหาให้พรรคก้าวไกล ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละพรรคต้องไปแก้ไขปัญหาของตัวเอง พรรคก้าวไกลต้องไปตัดสินใจแก้ปัญหาตัวเอง อย่าโยนปัญหาให้คนอื่น เช่น กรณีมี นโยบายแก้มาตรา 112 ต้องไปหาวิธีจะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร อย่าเป็นปัญหาให้เพื่อน








Advertisement

เสมือนเป็นการกระทุ้งให้พรรคก้าวไกลยอมถอยออกไปเป็น ฝ่ายค้านเองหรือไม่?

แต่พรรคก้าวไกลไม่ยอมถูกบีบอยู่ฝ่ายเดียว บรรดาตัวตึงแห่ออกมากดดันกลับเช่นกัน

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ท่องคาถาว่าเป็นความต้องการและความคาดหวังจากประชาชนที่อยากจะเห็นพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของขั้วอำนาจเดิม

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แนวโน้มที่พรรคก้าวไกลจะไปเป็นฝ่ายค้านนั้นเชื่อว่าหลายคนพยายามประเมิน แต่ยังไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ แต่ยอมรับว่าเกิดการตั้งคำถามว่า การจะจับขั้วตั้งรัฐบาลต้องเกิดจาก 2 ส่วนคือ อุดมการณ์ ความคิดความเชื่อ ที่พรรคก้าวไกลยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงแนวทางการทำงานที่มองว่าพรรคขั้วรัฐบาลเดิมไม่ได้มีแนวทางเดียวกัน

หากมีการจับขั้วตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกล ต้องถามว่าพรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์ ความเชื่อตรงกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมมากกว่าตรงกับพรรคก้าวไกล และต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจหากมีเหตุการณ์ลักษณะนั้นเกิดขึ้น

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันไม่สนใจ “ดีลลับ” หรือข่าวลือใดๆ ยังเชื่อใจภาคี 8 พรรคร่วมไม่เคยระแวง ไม่เคยลังเล

ถ้าสุดท้ายภารกิจต้องล้มเหลวเพราะถูกหักหลังจริงๆ ยังดีกว่าการที่ล้มเหลวเพราะความไม่เชื่อใจกันเองภายในทีม การล้มเหลวเพราะถูกหักหลัง คนที่ทรยศวันข้างหน้ามีแต่จะด่าวดิ้นสิ้นอนาคต ส่วนคนที่ซื่อตรง ยังไงจะมีมือของผู้คนช่วยดึง ช่วยพยุง ให้ลุกขึ้นสู้ต่ออย่างองอาจ

นายวิโรจน์ยังขอแฟนคลับอย่าเชื่อข่าวลือว่าให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วเพื่อไทยจะไปร่วมรัฐบาล โดยมีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปร่วมด้วย

“จะเป็นไปได้ไง ตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่ได้ กระทรวงสำคัญก็ไม่ได้ แถมการไปร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ กับพลังประชารัฐ ยังโดนประชาชนด่าอีกด้วย เป็นการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิตมากกว่า” นายวิโรจน์ บอกอย่างมั่นใจ

แต่ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” อะไรก็เกิดขึ้นได้

เพื่อไทยจะแยกวงกับก้าวไกลหรือไม่ หรือจะแยกด้วยวิธีใด คงชัดเจนก่อนโหวตนายกฯ รอบสาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน