คดีที่สั่นสะเทือนภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ คือคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก อาคารที่พักอาศัยหรูกลางกรุงเทพฯ

ไม่เพียงเพราะเป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัท ต่างชาติ คือบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด พันธมิตรญี่ปุ่น กับบริษัท อนันดาฯ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ของไทย

ยังมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นครอบครัวของชาวต่างชาติด้วย 142 ครอบครัว จากทั้งหมด 20 ประเทศ ขณะที่ครอบครัวคนไทยมี 438 ครอบครัว

ในจำนวน 580 ครอบครัว ร้อยละ 84 อาศัยมานาน 4 ปีแล้ว โดยในช่วง 4 ปีนี้ยังไม่มีการสำรวจว่ามีกี่คนหรือกี่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยความไม่สบายใจ หรืออยู่ไม่เป็นสุขจากการฟ้องร้องคดีนี้

ปัญหาของโครงการแอชตัน อโศก เริ่มต้นเป็นคดีมานาน 7 ปี ไม่ได้อยู่ที่ตัวอาคาร แต่เป็นตรงทางเข้าออก ซึ่งตกลงกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากฝ่ายโยธาธิการของกรุงเทพมหานคร

แต่เนื่องจากที่ดินตรงนั้นเป็นที่เวนคืน รฟม. จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ประกอบการได้ ศาลปกครองสูงสุดชี้ว่าการที่หน่วยงานรัฐมาออกใบอนุญาตก่อสร้าง จึงขัดต่อกฎหมาย

จากนี้ไปบริษัทเอกชนผู้ก่อสร้างต้องพึ่งพาอาศัยหน่วยงานรัฐทั้งหมดช่วยแก้ปัญหา ด้วยผลของคำพิพากษานั้นย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น

คดีนี้ยังกลายเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งน่าจะมีกรณีคล้ายกันนี้อีกไม่น้อยในกรุงเทพฯ ทั้งอาคารคอนโดฯ และห้างสรรพสินค้า

ส่วนของต่างจังหวัด อาจยังไม่พบกรณีแบบ แอชตัน อโศก แต่เป็นรีสอร์ตที่สร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม

เช่น รีสอร์ตที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี สร้างฝังเข้าไปยังโขดหินติดทะเล มีผู้จองเข้าพักมาอย่าง ต่อเนื่อง และรีสอร์ตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ ผาหัวสิงห์ ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์

ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรัฐถึงปล่อยให้สร้างจนไปถึงเปิดบริการได้

ลักษณะ “ทำไปก่อนค่อยรื้อทีหลัง” สร้างปัญหาใหญ่หลวงในสังคมไทย ไม่เฉพาะกับธุรกิจก่อสร้าง ยังมีตัวอย่างเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เคยรณรงค์กันว่า ให้รับไปก่อนในการลงประชามติ ไว้ค่อยแก้ไขภายหลัง ขณะนี้เห็นผลแล้วว่าได้ส่งผลกระทบเพียงใด และแก้ไขได้หรือไม่

บทเรียนหลายๆ เหตุการณ์ที่กล่าวมา ต้องถึงเวลายกระดับมาตรฐานของสังคมไทยอย่างจริงจัง ต้องเริ่มต้นด้วยความถูกต้องและตลอดทั้งกระบวนการไปจนถึงเสร็จสิ้น จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน