ผ่านการเลือกตั้งนานเกือบ 3 เดือน การโหวตนายกรัฐมนตรีโดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 4 ส.ค.

อย่างไรก็ตาม กระบวนการได้มาซึ่ง นายกฯ จะสำเร็จลุล่วง หรือมีข้อติดขัดสำคัญบางประการทำให้ต้องเลื่อน ออกไป ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 3 ส.ค.

วันดังกล่าว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ รอบสอง เพราะถือเป็นญัตติซ้ำ และโหวตตีตกไป

ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยเห็นว่าการดำเนินการให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลเป็นนายกฯ เป็นการกระทำตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

ไม่ใช่กรณีเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ซึ่งเป็นคนละหมวดกัน ดังนั้น การดำเนินการของรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. มีการกระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 172

และก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หากปล่อยให้คัดเลือกเห็นชอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดำเนินการ ต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ยากต่อการเยียวยา จึงมีมติขอให้ศาลกำหนดมาตรการวิธีการชั่วคราว








Advertisement

สั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกไปก่อน

มีการวิเคราะห์คาดการณ์ถึงผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องดังกล่าว สามารถออกได้ 3 แนวทางด้วยกัน

แนวทางแรก ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ซึ่งจะทำให้กระบวนการโหวตนายกฯ วันที่ 4 ส.ค. ดำเนินการต่อไปได้ตามที่ประธานรัฐสภานัดหมายกับสมาชิก สส. สว.

แนวทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ การโหวตนายกฯ 4 ส.ค. ก็ยังเกิดขึ้นได้ แม้อาจมีปัญหาตามมาหากมีคำวินิจฉัยออกมาภายหลังว่า การกระทำของรัฐสภาเมื่อ วันที่ 19 ก.ค. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แนวทางที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน ซึ่งหากออกมาแนวทางนี้ก็จะทำให้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ คนที่ 30 ต้องทอดยาวออกไป การจัดตั้งรัฐบาลเกิดภาวะชะงักงัน

ตามหลักการที่ว่า ไม่มีใครสามารถก้าวก่ายชี้นำองค์กรตุลาการได้ ทั้ง 3 แนวทางจึงเป็นแค่ข้อวิเคราะห์คาดการณ์

บนพื้นฐานความเชื่อมั่น สุดท้ายแล้วคำวินิจฉัยวันที่ 3 ส.ค. จะเป็นทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน