กทม. – น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.อยู่ระหว่างจัดซื้อเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator (AED) เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่เคยจัดซื้อไปเมื่อปี 2562 ซึ่งจะหมดสภาพการใช้งานในเดือนพ.ย.นี้ จำนวน 200 เครื่อง และติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเหมาะสม อีก 81 เครื่อง รวมทั้ง 281 เครื่องในราคาเครื่องละ 55,000 บาท โดยได้จัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แผนงาน บริการโรงพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉิน รวม 15,455,000 บาท

โดยจะแบ่งการติดตั้งเครื่องเออีดี ดังนี้ ทดแทนเครื่องเดิม 200 เครื่อง ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จำนวน 54 เครื่อง สำนักการคลัง (สนค.) 1 เครื่อง สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) 1 เครื่อง สำนักการโยธา (สนย.) 2 เครื่อง สำนักการระบายน้ำ (สนน.) 4 เครื่อง สำนักเทศกิจ (สนท.) 2 เครื่อง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กระจายอยู่ที่สถานีดับเพลิงหลักและสถานีดับเพลิงย่อย 49 เครื่อง

สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) 4 เครื่อง สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (สวท.) กระจายอยู่ที่ศูนย์เยาวชน ห้องสมุด ศูนย์กีฬา หอศิลป์ 17 เครื่อง สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) 40 เครื่อง สำนักอนามัย (สนอ.) กระจายอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เครื่อง

นอกจากนี้ จัดซื้อใหม่ 81 เครื่อง เพื่อติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ดังนี้ สสล.ในสวนสาธารณะ 18 เครื่อง, สวท. ติดที่ ศูนย์เยาวชน ห้องสมุด ศูนย์กีฬา หอศิลป์ 53 เครื่อง และสนอ. ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนไทย ซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหัวใจหยุดเต้นกะทันหันอาจเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เกิดได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา และที่พบได้บ่อยในระหว่างการออกกำลังกาย เพียงเสี้ยววินาทีที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะ สมองและร่างกายจะขาดออกซิเจนจนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด และหากมีคนเกิดหัวใจวายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลว เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติจะช่วยกระตุ้นหัวใจ ให้กลับมาเต้นเป็นปกติด้วยไฟฟ้ากระแสตรง และช่วยให้ผู้ป่วย ฟื้นกลับมาได้ถึง 70% แต่หากไม่มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า การฟื้นกลับมาของผู้ป่วยจะมีเพียง 50% เท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์นักกีฬาเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสนามกีฬา และมีการนำเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED)ไปช่วยชีวิตไว้ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการให้บริการทางด้านการแพทย์ในเบื้องต้นให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน