หลังจากผ่านมากว่า 3 ปีเต็ม ภายใต้วิสัยทัศน์ “ธนาคารเพื่อสังคม” ที่ชักธงรบโดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนหยัดภารกิจ “ปราการด่านหน้า” สกัดดอกเบี้ยแพงกระฉูดในตลาด หลายๆ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ทั้งจำนำทะเบียน ที่ดิน แม้แต่ดูแลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ บรรเทาความยากจน ตอกย้ำภารกิจของสถาบันการเงินของรัฐที่แท้จริง

ก้าวต่อไปภายใต้ธงรบเดิม นายวิทัยระบุว่า ธนาคารออมสินยังคงมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่ดำเนินการโดยใช้แนวคิด ESG เป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ มุ่งสร้าง Social Impact ที่เป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการดำเนินงาน ESG in action บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมาสามารถสร้าง Social Impact ประเมินมูลค่าแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท

ESG in action หรือการดำเนินธุรกิจด้วยกรอบแนวคิด ESG ของธนาคาร ประกอบด้วย

E : สิ่งแวดล้อม ธนาคารได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านการออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้ง สินเชื่อ GSB for BCG Economy, สินเชื่อ Green Biz, Green Home Loan และสินเชื่อบุคคล GSB Go Green

โครงการติดตั้งระบบ Solar Rooftop ที่สาขาและอาคารสำนักงานใหญ่ โครงการปลูกป่าเพื่อชดเชย/ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการ Community Waste Bank ร่วมกับ UNDP โครงการธนาคารปูม้าส่งเสริมประมงยั่งยืน และล่าสุดธนาคารได้กำหนดให้มีการใช้ ESG Score เป็นเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินกู้ 500 ล้านบาทขึ้นไป

“ธนาคารอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศเป้าหมาย GSB Net Zero Target อย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ภายในปี 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี 2050”

ด้าน S : Social เป็นภารกิจหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้ากลุ่มฐานราก โดยเน้นดำเนินการใน 3 มิติ 1.การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ หรือ Financial Inclusion โดยการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและกลุ่มฐานรากได้แล้วกว่า 3.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.2 ล้านคนเป็นผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบเพราะมีเครดิตต่ำหรือไม่มีเครดิตทางการเงินมาก่อน








Advertisement

มิติที่ 2.การปรับโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดให้เป็นธรรม ผ่านการเข้าทำธุรกิจสร้างการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งสามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ลงมาอยู่ที่ 16-18% ในปัจจุบัน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้ ซึ่งประสบความสำเร็จนำไปสู่การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเม็ดเงินกว่า 25,000 ล้านบาท และมิติที่ 3.การสร้างงานสร้างอาชีพ สามารถพัฒนาทักษะอาชีพแก่ประชาชนได้มากกว่า 300,000 ราย ให้เงินทุนประกอบอาชีพมากกว่า 140,000 ราย และสร้างช่องทางการขายแล้ว 25,000 ร้านค้า

ด้านสุดท้าย G : Governance ธนาคารดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ยึดมั่นในการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล ผ่านกระบวนการปรับลดงบประมาณองค์กรลงเกือบ 25% ต่อปี โดยในปี 2566 ได้ลดการตั้งงบประมาณลงถึง 9,800 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มปริมาณเงินสำรองทั่วไปได้มากกว่า 46,000 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 3 ปี

นายวิทัยสรุปขมวดผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2566 มีกำไรสุทธิ จำนวน 17,344 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.35 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 2.68 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 3.16 ล้านล้านบาท พร้อมกับสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ที่ 2.63% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratios) 172.10% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) แตะระดับ 106,595 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคาร

ส่วนครึ่งปีหลังของปี 2566 นั้น ออมสิน เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตามนโยบายกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงการเปิดตัวบริษัทนอนแบงก์ (Non Bank) ภายในไตรมาส 4 เพื่อเข้าแข่งขันลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

ตอกย้ำภาพ ESG in Action อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน